เราเชื่อถือข้อสรุปจากงานวิจัยได้มากแค่ไหน

จะเป็นยังไง เมื่อนักวิจัยหลายชีวิต หลายทีม ได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน แล้วแยกกันนำไปศึกษา อย่างอิสระ


เราเชื่อถือข้อสรุปจากงานวิจัยได้มากแค่ไหน

งานนี้สนุกดีนะครับ เป็นการศึกษาของ Breznau และคณะ (2021) [1] ผมผ่านไปเห็นผู้วิจัยเขาแชร์มาปกติไม่ได้ศึกษางานทางสายนี้เลย อ่านแล้วก็เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเลยเอามาแชร์กันอีกที

Breznau และคณะ

ศึกษาใน.... ในนักวิจัย ใช่ งานวิจัยที่ศึกษานักวิจัยอีกที

เป็นการศึกษาที่ศึกษาการวิเคราะห์ผลข้อมูลของนักวิจัย ในงานนี้เป็นข้อมูลการศึกษาทางด้าน สังคมศาสตร์ (Social science) โดยเขาให้ข้อมูลชุดเดียวกัน กับทีมวิจัย 73 ทีม นักวิจัย 161 คน เพื่อนำไปศึกษา วิเคราะห์ และสรุปว่าทดสอบสมมุติฐานออกมาเป็นยังไงกันบ้าง

รายละเอียดเนี่ยเช่นเคยครับ ใครสนใจไปอ่านในงานกันเลย เขาก็อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดครับ ว่าทีมนั้นให้ผลมาแบบนี้ ทีมนี้ให้ผลมายังไง

ผลที่ได้เนี่ย เขาพบว่าจากข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่อศึกษาออกมาด้วยนักวิจัยหลายๆคน ผลมันออกมากว้างมาก ทั้งยอมรับสมมุติฐาน ทั้งไม่ยอมรับสมมุติฐาน มีความแตกต่างที่หลากหลาย แต่ต้องบอกก่อนว่านี่คือข้อมูลงานทางด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งก็ค่อนข้างมีความซับซ้อนโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

ผลที่ได้ออกมา ไปทั้งซ้ายและขวา ทั้งบนทั้งล่างจนน่ามึนงง

ในตัวงานชิ้นนี้เขาสรุปไว้ว่า นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์เองอาจจะต้องมองถึงความซับซ้อน ของศาสตร์ทางด้านนี้ ว่ามันอาจจะมีการสรุปผลออกมาได้หลากหลาย ซึ่งอันนั้นก็เป็นส่วนที่มีผลกับพวกกลุ่มนักวิจัยอ่ะนะครับ

ในส่วนของเราๆ ได้ประโยชน์อะไรจากงานนี้บ้าง

งานในด้านอื่นอาจจะมีความชัดเจนมากกว่า อย่างไรก็ตามการอ้าง หรืออ่านข้อมูลจากงานวิจัย มันก็ยังต้องมองหลายๆมุม ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของแต่ละคนที่อ่านและตีความ มีโอกาสที่จะให้มุมมองที่ออกมาแตกต่างกัน แม้กระทั่งคนเดียวอ่าน แต่อ่านงานในแต่ละด้าน ที่ตัวเองมีความรู้ด้านนั้นมากหรือน้อยแตกต่างไปในแต่ละเวลา ก็ยังอาจจะตีความได้แตกต่างกัน

สรุป

ในโลกแห่งความเร่งรีบ ข้อมูลที่มันล้นทะลักในปัจจุบัน เราอาจจะมีสองทางเลือก

  1. เห็นเขาอ้างงานวิจัย ก็ไปอ่านต่อว่ารายละเอียดมันยังไง ศึกษายังไง คนนำมาสื่อสารสื่อได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน บิดเบือนมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ
  2. ช่างหัวแม่งมันบอกมีงานวิจัยรองรับ ก็เชื่อๆมันไปจบๆ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นต่อ ผิดถูกไม่ได้เป็นเรื่องจริงจังกับชีวิตกูมาก 555

แต่ผมอยากให้เป็นแบบข้อ 1 นะ บางบทความเขียนเป็นตุเป็นตะไม่บอกแหล่งอ้างอิงอะไรเลย มันก็ยากที่เราจะตรวจสอบว่าจริงเท็จประการใด อันนี้สมัยก่อนผมก็เขียนแบบนี้เหมือนกัน หลังๆ ก็พบว่าแม้แต่ตัวเองมาอ่านย้อนหลัง เราก็ลืมแล้วว่าอันนี้เราศึกษามาจากอันไหน สุดท้ายเมื่อข้อมูลใหม่ มันแตกต่างออกไป มันก็ไม่รู้แล้วว่าแต่ก่อนฉันเชื่ออะไรมาจากไหน ๕๕

บางบทความเขียนอ้างงานวิจัยพบว่า งานวิจัยบอกว่า บลาบลาบลา แต่ไม่เคยมีการแสดงแหล่งอ้างอิงไว้เลยว่าไอ้คำว่างานวิจัยที่ว่าเนี่ย เป็นงานไหนวิจัยโดยใคร งานชื่ออะไร ออกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แค่เขียนบอกว่ามีงานวิจัยพบว่า บลาบลาบลา เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือแค่นั้นเอง

ใดๆก็ตามครับ ผมอยากให้พวกเราชอบที่จะศึกษาข้อมูลให้มันมากขึ้น มากกว่าที่จะเชื่อที่เขาบอก แม้แต่สิ่งที่ผมพิมพ์ออกไป ก็ควรไปศึกษาตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพราะผมก็อาจจะมีการบิดเบือนข้อมูลด้วยอคติของผมเองก็ได้

อ้างอิง

  1. Breznau, N., Rinke, E., Wuttke, A., Adem, M., Adriaans, J., Alvarez-Benjumea, A., … Nguyen, H. H. V. (2021, March 24). Observing Many Researchers Using the Same Data and Hypothesis Reveals a Hidden Universe of Uncertainty. https://doi.org/10.31222/osf.io/cd5j9

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK