เวลาพูดถึง Vegan จุดเด่นจุดนึงที่เรามักจะได้ยินกันเสมอๆ ก็คือเรื่องของการลดน้ำหนัก การทำให้ค่า lipid รวมถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น แต่ในแง่ของน้ำตาลในกระแสเลือด ภาวะดื้ออินซูลิน หรือเบาหวาน การทาน Vegan จะให้ผลยังไงกันนะ

เพราะว่าการทานอาหาร Vegan นี่ก็มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตอยู่แน่นๆ พอสมควรเลย บางคนเคยไปฟังคลิปหมอเน็ตไอดอลลดความอ้วนมา เขาบอกว่าตราบเท่าที่ยังกินคาร์บอยู่ ยังไงก็กระตุ้นอินซูลิน กระตุ้นอินซูลินก็ทำให้สะสมไขมัน กระตุ้นอินซูลินทำให้ดื้ออินซูลินแล้วก็ บลาบลาบลา เคยไปฟังแล้วยอมรับเลยว่าประสาทจะแดกตาย ๕๕๕

Chen , Zhao และ Chen (2022)

งานนี้เป็นการศึกษาของ Chen , Zhao และ Chen (2022) [1] แบบ Systematic review และ Meta-analysis นะครับ โดยเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับ การทานแบบ Vegan diet ว่ามันจะมีผลยังไงกับการดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งประเมินด้วย HOMA-IR (Homeostasis Model Assessment Insulin Resistance) รวมถึงค่า Metabolic อื่นๆบ้างนะครับ (จริงๆในงานเขาก็เรียกเป็น Plant-based diet ด้วยนะครับ ซึ่งอ่านแล้วก็มีความสับสนพอสมควร เพราะบางครั้งก็เขียน Vegan ซึ่งจริงๆสองอย่างนี้ต่างกันอยู่พอสมควร)

ศึกษาข้อมูลจากไหน ?

ซึ่งหลังจากค้นหาจากฐานข้อมูล PubMed, Embase และ Cochrane เพื่อหางานที่เข้าเกณฑ์ข้อมูลที่เขาศึกษา เกณฑ์ที่น่าสนใจคือ กลุ่มประชากรเป็นกลุ่มอ้วน หรือน้ำหนักเกิน การศึกษาต้องมีการเปรียบเทียบกับการทานแบบอื่น (ก็ Non-Vegan นั่นแหละ) เป็นงานที่ทำในคนเท่านั้น ก็ได้การศึกษามา 6 งาน มีชุดข้อมูลอยู่ 7 ชุด ได้ข้อมูลตัวอย่างมา 303 คน อายุระหว่าง 44-58 ปี BMI 30-36

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้คือถ้าดูภาพรวมต่อภาวะดื้ออินซูลิน การทาน Vegan ก็ส่งผลดีนะครับ เมื่อเทียบกับ baseline ของก่อนเริ่มเปลี่ยนมาทาน Vegan มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ดีขึ้น ส่วนค่าครอเลสเตอรอล HDL LDL อันนี้ก็ดีขึ้น เว้นแต่ค่าไตรกลีเซอรัล ซึ่งในส่วนของ lipid profile นี่ก็คล้ายๆกับอีกหลายงานที่ศึกษาในเรื่องใกล้ๆกันนี้

การดื้ออินซูลินดีขึ้น (ด้านบน) คอเลสเตอรอลดีขึ้น (ด้านล่าง)
HDL , LDL ดีขึ้นนะครับ แต่ค่า ไตรกลีเซอร์ไรด์ ไม่ดีขึ้น

ก็พบว่าได้ผลดีนะครับ ต่อการดื้ออินซูลิน แล้วก็ยังมีผลดีต่อค่า Lipid อื่นๆอีกด้วย

สรุป

ก็พบว่าการทาน Vegan ก็เป็นทางเลือกนึงนะครับ สำหรับรับมือกับทั้ง การดื้ออินซูลินที่พบในงานนี้ และในแง่ของความอ้วน และเบาหวาน [2] นั่นคือการศึกษาในกลุ่มที่อ้วน หรือเป็นเบาหวานนะครับ ทั้งนี้การทานในกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับการทาน Vegan ทุกคน เพราะบางคนเสี่ยงที่ทานแล้วจะขาดโปรตีนได้ [3] หรือถ้าจะทาน Vegan ก็ต้องใส่ใจเรื่องแหล่งโปรตีนในอาหารเพิ่มขึ้นหน่อย [4]

บางท่านอาจจะไม่ได้สะดวกถึงกับทาน Vegan ไปเลย จริงๆถ้าแค่ผลเรื่องระดับน้ำตาลในเลือด อาจจะทานในลักษณะของ Plant based (ยังทานเนื้อบางชนิดได้) หรือแค่ทานผักเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลได้ครับ [5]

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแปะป้ายว่าฉันกิน Vegan แล้วมันจะเป็นยาวิเศษนะครับ ก็ต้องดูเรื่องปริมาณ วัตถุดิบ สารอาหารต่างๆด้วย เพราะมันไม่แน่ว่าถ้ามีใครศึกษาโดยให้ทาน อาหารเจมันย่อง แป้งยับ ที่ขายกันตามตลาด ในช่วงเทศกาลทานเจบ้านเรา อาจจะให้ผลที่แตกต่างกันออกไปก็ได้

Photo by Anna Sushok / Unsplash

อ้างอิง

  1. Chen, P., Zhao, Y. & Chen, Y. A vegan diet improves insulin resistance in individuals with obesity: a systematic review and meta-analysis. Diabetol Metab Syndr 14, 114 (2022). https://doi.org/10.1186/s13098-022-00879-w
  2. Lee, Y., & Park, K. (2017). Adherence to a Vegetarian Diet and Diabetes Risk: A Systematic Review and Meta-Analysis of Observational Studies. Nutrients, 9(6), 603. https://doi.org/10.3390/nu9060603
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022d, July 8). การทาน Vegan เหมาะกับผู้สูงอายุมั้ย ? Fat Fighting. Retrieved August 18, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-22-vegan-diets-for-older-adults-a-perspective-on-the-potential-impact-on-muscle-mass-and-strength/
  4. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2021a, September 20). การทานโปรตีนพืช เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ. Fat Fighting. Retrieved August 18, 2022, from https://www.fatfighting.net/2021-09-20-plant-protein-for-muscle/
  5. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022g, July 21). กินผักเพิ่มขึ้นช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้. Fat Fighting. Retrieved August 18, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-21-increased-vegetable-intake-improves-glycaemic-control-in-adults-with-type-2-diabetes-mellitus/