งานนี้เป็นการศึกษาแบบ Meta-analysis เพื่อดูผลของการทานโภชนาการสัดส่วนแบบ คาร์บต่ำ (Low carbohydrate) และ ไขมันต่ำ (Low fat) เปรียบเทียบกัน ว่าแบบไหนส่งผลยังไงต่อปัจจัยเสี่ยงต่อระบบ Metabolic บ้าง

สมัยก่อนมนุษย์เราขัดแย้งกันเพราะแย่งดินแดนกัน ในอีกยุคนึงก็ขัดแย้งกันเพราะเรื่องศาสนา ในยุคนึงขัดแย้งกันเพราะเรียนคนละสถาบัน ใส่เสื้อคนละสี หัวเข็มขัดคนละลาย ในยุคนึงก็ขัดแย้งกันเพราะความเชื่อทางการเมือง ในปัจจุบันเราขัดแย้งกันเพราะแดกกันคนละแบบ ฮิ้วววว

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพราะคนไทยนะครับ บอกได้เลยว่าเมืองนอกก็สาดกันยับ พวกคนไทยตัวที่เห็นๆเนี่ยก็ก๊อปโพสต์ ก๊อปข้อความจากฝรั่งตัวหัวๆ มาสาดกันต่อนั่นแหละ ในงานนี้เป็นการศึกษาของ Lei และคณะ (2022) [1] เขาก็เลยไปศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ดูให้ชัดๆเลยว่า กินแบบไหนมันส่งผลยังไง แบบไหนดีกว่า แบบไหนแย่กว่า

เขาก็ไปศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ในฐานข้อมูงานวิจัย ทั้ง PubMed, EMBASE และ Cochrane โดย การทานแบบโลว์คาร์บ (LCD) ในนิยามของงานวิจัยต่างๆ คือคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนไม่เกิน 40% ส่วนการทานแบบโลว์แฟต (LFD) สัดส่วนไขมันไม่เกิน 30% ของพลังงานทั้งหมด งานวิจัยต้องทำอย่างน้อย 6 เดือน ศึกษาในคนน้ำหนักเกิน อ้วน หรือมีภาวะ Metabolic syndrome

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เมื่อค้นข้อมูลเขาก็ได้งานวิจัยที่เข้าเกณฑ์อยู่ 33 งาน มีกลุ่มตัวอย่าง 3,939 คน เป็นการศึกษาทั้งจาก อเมริกาเหนือ , โอเซเนีย , เอเชีย และยุโรป มี 1,978 คนที่ทาน LCD และ 1,961 คนที่ทาน LFD อายุตั้งแต่ 18-72 ปี การศึกษานี่ก็มียาวตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี ในกลุ่ม LCD มี 14 งานที่ทานคาร์บต่ำมาก (VLCD) คือต่ำกว่า 50g ต่อวัน ว่าง่ายๆคือทานแบบ Keto นั่นเอง

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบก็คือ LCD นั้นให้ผลต่อการลดไตกลีเซอไรด์ (Triglycerides) , ความดันตัวล่าง (Diastolic) และน้ำหนักที่ดีกว่า (ดีกว่าในทีนี้ก็คือ 1.33 กิโลโดยเฉลี่ยนะครับ ไม่ใช่แบบต่างกัน 5 โล 10 โล) ค่าไตกลีฯ ก็ลดได้ดีกว่า 0.14mmol/L ความดันตัวล่างก็ลดได้ดีกว่า 0.87mmHg นะครับ เช่นกันไม่ได้ต่างกันมากแบบ 5 หรือ 10mmHg นอกจากลดแล้ว ทาน LCD ก็ให้ผลดีต่อการเพิ่ม HDL ด้วย ก็ดีกว่าราว 0.07mmol/L

ส่วนการทานแบบ LFD ลดคอเลสเตอรอล และ LDL ได้ดีกว่า แต่ที่ดีกว่าก็ลด Cholesterol ได้ดีกว่า 0.14mmol/L และ LDL นี่ 0.10mmol/L ในส่วนของน้ำหนักตัวนั้นในช่วงแรก ลดได้ดีกว่าแต่เมื่อติดตามผลที่ระยะเวลา 2 ปี ก็พบว่าไม่ต่างกัน เมื่อดูกลุ่มย่อย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หรือไขมัน ก็ให้ผลที่ไม่แตกต่างกัน

ซึ่งก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายนะครับ เพราะจริงๆแล้วในการศึกษาอีกหลายงาน ก็พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย อย่างเช่นการทาน Low carb เทียบกับ Balance diet ในคนเป็นเบาหวาน การลดน้ำหนักการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน [2]

ก่อนหน้านี้ก็เคยเขียนบทความเรื่อง Low carb กับ Low fat ว่าแบบไหนน้ำหนักดีกว่ากันไปแล้วนะครับ ผลจากที่ศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ณ ตอนนั้น (ปี 2020) ก็พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน [3] ไม่เฉพาะการลดน้ำหนักหรือเบาหวาน สำหรับภาวะไขมันพอกตับ Low carb หรือ Low fat แบบไหนดีกว่ากัน ผลจากการศึกษาแบบ Systematic Review ก็พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน หรือจะเปรียบเทียบเรื่องการฟื้นฟูการทำงานของตับ ว่า Low carb หรือ Low fat ฟื้นฟูความไวอินซูลิน ได้ดีกว่ากัน ผลก็เหมือนกันนะครับ ได้เหมือนๆกัน อยู่ที่ว่าลดน้ำหนักได้รึเปล่า [5] หรือจากงานวิจัยที่ศึกษาใกล้เคียงกัน ในก่อนหน้านี้ ก็พบว่าจะทานแบบ Low carb หรือ High carb ก็มีผลดีต่อน้ำหนัก ความดัน ผลเลือดได้ไม่แตกต่างกัน [6]

สรุป

โดยสรุป LCD และ LFD มีผลต่อปัจจัยเสี่ยง Metabolic แตกต่างกันดังผลข้างบน ลดน้ำหนักได้ดีกว่าในช่วง 6 เดือนแรก แต่เมื่อติดตามผลที่ระยะเวลา 2 ปี ทั้งน้ำหนักและปัจจัยเสี่ยงต่อ Metabolic ก็ทำได้ดีเหมือนๆกัน

จะทานแบบไหนก็ได้นะครับ เอาที่เราทานได้สะดวก และทำได้นานพอจนเห็นผล ปี 2022 แล้ว ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ที่พูดถึงข้างต้น ผมว่าเราควรเลิกยกหางกว่ากินแบบนี้สิดีกว่าอีกแบบนึงกันได้แล้ว มันได้ผลหรือไม่ได้ผลไม่แตกต่างกัน เหมือนที่ในอีกหลายๆงานพบนั่นแหละ แบบไหนคุณกินแล้ว ลดน้ำหนักได้ ลดไขมันส่วนเกินได้ สิ่งต่างๆมันก็ดีขึ้นแทบไม่ต่างกัน

อ้างอิง

  1. Lei, L., Huang, J., Zhang, L., Hong, Y., Hui, S., & Yang, J. (2022). Effects of low-carbohydrate diets versus low-fat diets on metabolic risk factors in overweight and obese adults: A meta-analysis of randomized controlled trials. Frontiers in nutrition, 9, 935234. https://doi.org/10.3389/fnut.2022.935234
  2. Naude, C. E., Brand, A., Schoonees, A., Nguyen, K. A., Chaplin, M., & Volmink, J. (2022). Low-carbohydrate versus balanced-carbohydrate diets for reducing weight and cardiovascular risk. The Cochrane database of systematic reviews, 1(1), CD013334. https://doi.org/10.1002/14651858.CD013334.pub2
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2020, September 22). Low carb หรือ low fat โภชนาการแบบไหนลดน้ำหนักได้ดีกว่ากัน. Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/articles-2020-09-22-low-carb-vs-low-fat-which-is-better/
  4. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 23). Low carb หรือ low fat กินแบบไหนถึงจะลดไขมันพอกตับได้ ? Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-22-low-fat-diet-versus-low-carbohydrate-diet-for-management-of-non-alcohol-fatty-liver-disease/
  5. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 21). ถ้าให้กินเท่าๆกัน โภชนาการแบบ low carb ฟื้นฟูการทำงานระบบ metabolic ดีกว่าการ high carb รึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-21-weight-loss-improves-b-cell-function-independently-of-dietary-carbohydrate-restriction-in-people-with-type-2-diabetes/
  6. Yang, Q., Lang, X., Li, W., & Liang, Y. (2022). The effects of low-fat, high-carbohydrate diets vs. low-carbohydrate, high-fat diets on weight, blood pressure, serum liquids and blood glucose: a systematic review and meta-analysis. European journal of clinical nutrition, 76(1), 16–27. https://doi.org/10.1038/s41430-021-00927-0