Low carb หรือ Low fat กินแบบไหนถึงจะลดไขมันพอกตับได้ ?

เป็นไขมันพอกตับ การทานโภชนาการแบบไหนถึงจะช่วยให้ดีขึ้นได้ Low carb หรือ Low fat แบบไหนส่งผลดีกว่ากัน ?


Low carb หรือ Low fat กินแบบไหนถึงจะลดไขมันพอกตับได้ ?

เปรียบมวยกันอีกครั้งครับ ระหว่างโภชนาการแบบ Low carb กับ Low fat (แปลว่า High carb นั่นแหละ) คราวนี้มาดูกันด้วยเรื่องของโรคไขมันพอกตับ หรือ non-alcoholic fatty liver diseas (NAFLD) กันบ้างว่ากินแบบไหน ถึงจะจัดการกับเจ้าโรคนี้ได้

ในทางวิชาการมันก็น่าศึกษานะครับ ว่าโภชนาการแบบไหนส่งผลต่อโรคยังไงบ้าง แต่ถ้าว่ากันตามน้ำลายของกลุ่มผู้นับถือศาสนา Low carb ในเน็ตนี่ไม่มีทางที่การทานคาร์บ จะทำให้ NAFLD ดีขึ้นได้แน่ๆ เพราะว่ายังไงคาร์บก็กระตุ้นอินซูลิน และจะเปลี่ยนเป็นไขมัน และสะสมไขมันอยู่ดี เราจะมาดูกันว่าน้ำลายนั้นจะถ่มรดหน้าใครกันแน่ ๕๕

Varkaneh และคณะ (2022)

งานนี้ก็เป็นการศึกษาของ Varkaneh และคณะ (2022) [1] เป็นการศึกษาแบบ Systematic review นะครับ โดยเขาก็ค้นข้อมูลจากงานวิจัยโดยเกณฑ์ที่คัดมาศึกษา ดูตามหลัก PICO อันดับแรก จะศึกษาในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี และเป็น NAFLD อันดับต่อมาการทดลอง เป็นการศึกษาโภชนาการแบบ Low carb หรือ Low fat โดยจะเทียบกันระหว่างโภชนาการ หรือเทียบกับก่อนเริ่มทดลองก็ได้ ส่วนผลที่ได้ก็คือดูในสิ่งที่เกี่ยวกับตับ

เริ่มค้นหาข้อมูลงานวิจัย

หลังจากค้นข้อมูลจาก PubMed/Medline, Web of science, Scopus, และ Cochrane เขาก็คัดงานวิจัยที่เข้าเกณฑ์มา 15 งาน ก็มีทั้งการเปรียบเทียบ Low carb กับรูปแบบอื่นๆ Low fat กับรูปแบบอื่นๆ และ Low carb กับ Lo fat ประกบคู่กันเอง เท่าที่ดูส่วนใหญ่จะกำหนดให้ทานพลังงานอาหารเท่าๆกัน ส่วนใหญ่จะให้ทานพลังงานติดลบ ลบมากลบน้อยแตกต่างกันไป มีบางงานที่ไม่ได้ระบุเรื่องพลังงาน แต่กำหนดเรื่องสัดส่วนโภชนาการเปรียบเทียบกันชัดเจน

หลังจากค้นฐานข้อมูลงานวิจัย ก็พบงานวิจัยที่เข้าเกณฑ์ 15 งาน

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้คือ อันดับแรกสำหรับ NAFLD ระหว่างโภชนาการรูปแบบต่างๆ ที่เขานำมาศึกษา ไม่มีแบบไหนดีที่สุดกว่าแบบอื่นๆชัดเจน ได้ผลดีพอๆกัน ไม่ว่าจะเป็น Low carb หรือ Low fat ก็ให้ผลได้ไม่แตกต่างกัน

สรุป การทานที่ให้พลังงานติดลบ ยังเป็นปัจจัยสำคัญ

สิ่งที่สำคัญก็คือการโภชนาการให้อยู่ในภาวะที่พลังงานติดลบ หรือทานอาหารแคลอรี่ต่ำ (Hypocaloric diet) ซึ่งจะช่วยเรื่องการดื้ออินซูลิน และ Metabolic syndrome ซึ่งส่งผลต่อมายัง NAFLD ย้ำอีกครั้งว่าจะทานแบบ Low carb หรือ Low fat ก็ให้ผลได้เหมือนกัน และในข้อมูลที่เขาศึกษาถ้าติดลบเท่าๆกัน ก็ลดน้ำหนักได้เหมือนๆกัน

มาถึงตรงนี้อาจจะมีพวกท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ว่า Cal in Cal out มันโบราณไปแล้ว ก็อยากจะบอกซ้ำๆนะครับ ว่ามันเก่าจริง แต่ก็ยังได้ผลและเป็นวิธีการที่เข้าใจง่าย อีกทั้งจริงๆแล้วในยุคปัจจุบัน คนที่เข้าใจเรื่อง Energy balance เขาก็ไม่ได้กินสุดโต่ง แคลไม่เกินเป็นพอย่างเดียวนะครับ คนที่มีความเข้าใจ เขาก็นำพลังงานเป้าหมาย มากำหนดสัดส่วนปริมาณสารอาหารกันนะรู้ยัง อิอิ

ในงานนี้ศึกษาเรื่องผลต่อภาวะไขมันพอกตับ แต่ในอีกงานนึงที่พึ่งนำเสนอไป ก็ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องการฟื้นฟูระบบ Metabolic และความไวอินซูลิน ก็พบว่า ไม่ว่าจะทานแบบ Low carb หรือ Low fat ถ้าลดน้ำหนักได้ก็ได้ผลไม่แตกต่างกันทั้งคู่ [2]

สรุป

ย้อนไปในประวัติศาสตร์ ยุคนึงเขาเชื่อกันเรื่อง Low fat ยุคต่อมาเขาก็มาศรัทธากันที่ Low carb แต่ปัจจุบันข้อมูลต่างๆก็เยอะมากขึ้น การศึกษาจำนวนมาก พบว่าจะทานรูปแบบไหนก็ได้ ขอให้มันลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้ มันก็ส่งผลดีได้ทั้งนั้น เลือกเอารูปแบบที่เหมาะกับเรา ทำให้เราทำได้นานพอจนเห็นผล และรักษาผลนั้นต่อไปได้ ก็โอเคแล้ว

อ้างอิง

  1. Varkaneh HK, Poursoleiman F, Al Masri MK, Alras KA, Shayah Y, Masmoum MD, Alangari FA, Alras AA, Rinaldi G, Day AS, Hekmatdoost A, Abu-Zaid A and Kutbi E (2022) Low fat diet versus low carbohydrate diet for management of non-alcohol fatty liver disease: A systematic review. Front. Nutr. 9:987921. doi: https://doi.org/10.3389/fnut.2022.987921
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022i, August 21). ถ้าให้กินเท่าๆกัน โภชนาการแบบ Low carb ฟื้นฟูการทำงานระบบ Metabolic ดีกว่าการ High carb รึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved August 23, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-21-weight-loss-improves-b-cell-function-independently-of-dietary-carbohydrate-restriction-in-people-with-type-2-diabetes/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK