งานนี้เป็นการศึกษาของ Maury-Sintjago และคณะ (2022) [1] เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional เพื่อดูผลของสิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องพฤติกรรมการกิน (Eating behavior) และการอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะพัก (Resting Metabolic Rate)ในช่วงรอบเดือน (Menstrual cycle phases) ของผู้หญิงนะครับ

Maury-Sintjago และคณะ (2022)

ในช่วงรอบเดือนนั้น ก็จะแบ่งเป็นช่วงก่อนการตกไข่ (Follicular phase) และ ช่วงหลังไข่ตก (Luteal phase) เขาก็จะดูว่าการกิน การเผาผลาญในช่วงต่างๆ ของผู้หญิงแต่ละกลุ่มนั้นเป็นยังไงบ้าง โดยแยกเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะอ้วน (Lean) และกลุ่มที่มีภาวะอ้วน (Obese) นะครับ

ระดับฮอรโมนต่างๆ ในช่วงรอบเดือน

ทำการศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

กลุ่มตัวอย่างที่เขาศึกษามีจำนวน 30 คน Lean 15 คน และกลุ่ม Obesity 15 คน อายุก็ระหว่าง 18-25 ปี ทุกคนมีรอบเดือนของตัวเองเป็นปกตินะครับ  ไม่ได้มีการใช้ยาควบคุมฮอร์โมน ยาลดน้ำหนัก ตั้งท้องหรือให้นมบุตร หรือมีน้ำหนักขึ้นลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนล่าสุด

Photo by Szabolcs Toth / Unsplash

เก็บข้อมูลต่างๆยังไง ?

โดยเขาก็เก็บผลน้ำหนักตัวในช่วงเช้าหลังปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว ในช่วงก่อนตกไข่ ระหว่างวันที่ 6 และ 13 ส่วนช่วงหลังไข่ตก ก็ระหว่างวันที่ 15 และ 18 การชั่งน้ำหนักมีการควบคุมต่างๆเป็นอย่างดีนะครับ ส่วนสัดส่วนมวลกาย (Body composition) นั้นใช้เครื่อง BIA รุ่น Bodystat Quadscan ใครที่ body fat ไม่เกิน 30 ก็คือไม่อ้วน

แล้วก็มีการเก็บข้อมูลการรับประทานอาหาร โดยใช้สอบถามย้อนหลัง 24 ชั่วโมง วันธรรมดา 2 วันวันหยุด 1 วัน ส่วนการเผาผลาญใช้ Indirect calorimetry วัด CO2 เพื่อมาคำนวณการเผาผลาญขณะพัก (RMR) นะครับ ก็โอเคแหละ ได้มาตรฐานอยู่ หลังจากเก็บค่าต่างๆ ก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ข้อมูลที่พบในกลุ่มตัวอย่าง

ผลก็คือ ?

ซึ่งเขาก็พบว่าความเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว ในคนสองกลุ่ม ในช่วงก่อนและหลังตกไข่เนี่ย ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่นะครับก็คล้ายๆกัน กลุ่ม Lean จะมีอุณหภูมิร่างกายในช่วงหลังตกไข่สูงกว่าช่วงก่อน แล้วก็จะกินพลังงานเยอะกว่าโดยที่เยอะเนี่ยจะเป็นอาหารกลุ่มไขมัน ในชณะที่กลุ่ม Obesity ที่มีภาวะอ้วนนั้น จะทานพลังงานสูงขึ้นโดยสูงขึ้นจากอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ค่าการเผาผลาญพลังงาน RMR ในช่วงที่ทานเยอะขึ้นเนี่ยดันสูงขึ้นเฉพาะในกลุ่ม Lean อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเสียด้วย กลุ่ม Obesity ค่า RMR ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่ากับกลุ่ม Lean

เมื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในช่วงรอบเดือน

ตรงนี้อาจจะเป็นจุดนึงที่อธิบายได้ว่าทำไมการควบคุมน้ำหนักของผู้หญิงในช่วงรอบเดือน โดยเฉพาะคนที่มีภาวะอ้วนเนี่ยทำได้ยาก เพราะว่ามันมีผลในเรื่องของระดับการเผาผลาญ รวมถึงฮอร์โมนที่ควบคุมเรื่องความอยากอาหาร เข้ามาเกี่ยวข้อง [2]

ค่า RMR ที่เพิ่มขึ้นในในช่วงตกไข่มีการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับ Estrogen ที่สูงขึ้น แต่ปัญหาก็คือมีการศึกษาพบว่าในกลุ่มคนที่อ้วนนั้นระดับ Progesterone และ Estrogen ดันต่ำ [3] แล้ว Estrogen นี่ก็มีส่วนในการควบคุมการทาน แล้วก็มีผลต่อการแสดงออกของโปรตีน UCP-1 ซึ่งมีบทบาทเพิ่มการเผาผลาญ [4]

การเผาผลาญช่วงหลังไข่ตกสูงขึ้นน้อยในกลุ่มคนอ้วน

จากข้อมูลในการศึกษานี้ก็พบว่ากลุ่ม Lean มีอุณหภูมิร่างกายในช่วงหลังไข่ตกสูงขึ้น ตรงนี้ก็สอดคล้องกับอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่ม Obesity ในงานนี้ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังไข่ตก ส่วนนึงมาจากปริมาณน้ำภายนอกเซลล์ในร่างกาย หรืออาการบวมน้ำนั่นเอง อ่ะก็สบายใจได้นิดว่าน้ำหนักที่อาจจะเพิ่มขึ้นทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ไขมัน

แต่มันก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความอ้วนขึ้นได้ในทุกๆ รอบเดือนอยู่นะครับ เพราะว่ามันเกิดการกินเพิ่ม ซึ่งพบทั้งสองกลุ่มแต่กลุ่มที่อ้วนเนี่ย RMR ดันไม่ได้สูงขึ้นตามมาด้วย เหมือนกลุ่มที่เขา Lean

ซึ่งพอถึงจุดนึง มันอาจจะเป็นงูกินหางได้นะครับ อ้วนขึ้น Estrogen ลดลงการเผาผลาญไม่เพิ่ม กินเพิ่ม อ้วนเพิ่ม ฮอร์โมนเปลี่ยน การเผาผลาญลด กินเพิ่ม อ้วนเพิ่ม อาจจะไม่ได้เพิ่มพรวดพราดหรอก แต่ถ้าเราไม่ได้สังเกตอะไรเลย ผ่านไปหลายๆเดือน ชั่งน้ำหนักดูสุขภาพประจำปี อุ่ย มาจากไหนเยอะแยะ

Photo by AllGo - An App For Plus Size People / Unsplash

สรุป

จากข้อมูลตรงนี้ มันก็นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการโภชนาการ การออกกำลังกายได้นะครับ จะไปคิดว่าไม่เป็นไรหรอก ฮอร์โมนมันเปลี่ยน มันอยากกินอ่ะ กินๆ เดี๋ยวพ้นช่วงนี้ไป ก็ปกติ บางทีผ่านไปหลายๆรอบ มันอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด

เพราะว่ามันมีโอกาสมากที่ตอนทานเยอะขึ้น เพราะคิดว่าฮอร์โมนเปลี่ยนไม่เป็นไรหรอก มันจะเยอะมากเกินไปจนทำให้เกิดไขมันสะสมส่วนเกินได้ในที่สุด แล้วไอ้ไขมันส่วนเกินนี้ ก็จะส่งผลอะไรต่อมิอะไรไปได้อีกหลายอย่างหลังจากนั้น อย่างเช่นการควบคุมการกินไม่ได้ [5] ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับช่วงรอบเดือนแล้ว แต่มันจะเป็นในช่วงเวลาอื่นๆด้วย พอถึงเวลาที่มันไปเยอะแล้ว มันก็จัดการยากขึ้น

อ้างอิง

  1. Maury-Sintjago, E., Rodríguez-Fernández, A., Parra-Flores, J., & Ruíz-De la Fuente, M. (2022). Obese Women Have a High Carbohydrate Intake without Changes in the Resting Metabolic Rate in the Luteal Phase. Nutrients, 14(10), 1997. https://doi.org/10.3390/nu14101997
  2. Van Pelt, R.E.; Gavin, K.M.; Kohrt, W.M. Regulation of Body Composition and Bioenergetics by Estrogens. Endocrinol. Metab. Clin. N. Am. 2015, 44, 663–676. https://doi.org/10.1016/j.ecl.2015.05.011
  3. Freeman, E.W.; Sammel, M.D.; Lin, H.; Gracia, C.R. Obesity and reproductive hormone levels in the transition to menopause. Menopause 2010, 17, 718–726. https://doi.org/10.1097/gme.0b013e3181cec85d
  4. Eckel, L.A. The ovarian hormone estradiol plays a crucial role in the control of food intake in females. Physiol. Behav. 2011, 104, 517–524. https://doi.org/10.1016/j.physbeh.2011.04.014
  5. Laura A Berner, Danielle Arigo, Laurel ES Mayer, David B Sarwer, Michael R Lowe, Examination of central body fat deposition as a risk factor for loss-of-control eating, The American Journal of Clinical Nutrition, Volume 102, Issue 4, October 2015, Pages 736–744, https://doi.org/10.3945/ajcn.115.107128