วันนี้อยากชวนคุยเรื่องข้อมูลโภชนาการหน่อยนะครับ ถ้าใครติดตาม Fat Fighting มาสักระยะ น่าจะจับทางได้ว่าผมเองนั้นค่อนข้างให้ความสำคัญกับข้อมูลโภชนาการ โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่ม Macros nutrients หรือสารอาหารหลัก โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต.เพราะข้อมูลตรงนี้ เมื่อนำไปใช้กับวิธีการที่ถูกต้อง และละเอียด มันทำให้เราสามารถจัดการกับแผนโภชนาการได้สะดวก อาจจะยากหน่อยในคนที่ไม่คุ้น แต่ถ้าทำไปสักพัก แล้วไปกับมันได้ จะพบว่ามันจะง่ายในการปรับเปลี่ยนอะไรให้ไปตามแพลน 😎

Photo by Eugene Kuznetsov / Unsplash

ยากจัง ต้องซีเรียสขนาดนั้นเลยเหรอ ?

จริงๆวิธีง่ายกว่า เช่นทานตามสัญชาติญาณ หรือ Hand protion หรือ Plam size protion ก็ใช้ได้แหละครับ แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับเป้าหมายบางลักษณะ ตรงนี้ก็ขออนุญาตว่าไม่ต้องโชว์เหนือกันเนาะ ว่าฉันไม่เห็นต้องสนใจอะไรพวกนี้เลยก็ลดได้ วิธีไหนมันเหมาะกับเรามันก็ใช้ได้ทั้งนั้นครับ ไม่ได้แปลกอะไร โตๆกันแล้ว ไม่ต้องอวดกันเนาะ 🙄

คราวนี้กลับมาที่ข้อมูลโภชนาการของอาหาร ถ้าเป็นพวกกลุ่มอาหารที่มีฉลากโภชนาการ มีข้อมูลระบุชัดเจน ที่เขานำเอาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างไปส่ง Labs ตรวจเป็นเรื่องเป็นราว อันนั้นก็ไม่ยากครับ ข้อมูลมันก็ตามที่วิเคราะห์ทางเคมีออกมาได้ ตามกฎหมายเองก็บอกว่าสามารถคลาดเคลื่อนได้ 20% ซึ่งก็เป็นกรอบที่โอเค และเรายังสามารถนำไปใช้งานได้ 😎

แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ขายๆกันอีกจำนวนมาก ก็อาจจะไม่ได้ไปถึงขนาดนั้นนะครับ พวกอาหารที่มันชัดเจนว่าไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหาร ผมก็ไม่ค่อยห่วงสมาชิกเท่าไหร่ เพราะปกติเราทานพวกนี้กันไม่ได้เยอะอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วง ก็จะเป็นพวกผลิตภัณฑ์ที่ชูประเด็นสุขภาพโภชนาการ อย่างเช่นพวกอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารคลีน ขนมคลีน ขนมคีโต อะไรทั้งหลายแหล่ 🤔

ด้วยความที่เขาวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ไว้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ขายในช่องทาง ในแวดวง ในกลุ่มสังคมออนไลน์ ของคนรักสุขภาพ ด้วยภาพและตำแหน่งผลิตภัณฑ์ตรงนี้ ทำให้หลายคนเกิดความ "วางใจ" คิดว่ามันจะทานยังไงก็ได้ 🙄

ขนมคลีนกินแล้วไม่อ้วน ?

บางคนก็คิดว่า ขนมคลีนกินแล้วไม่อ้วน ขนมคีโตกินแล้วไม่อ้วน ขนมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กินแล้วอ้วน กินแล้วเป็นพิษต่อร่างกาย ฯลฯ ในความเป็นจริงอะไรที่มันมากหรือน้อยเกินไป มันก็มีผลได้ทั้งนั้นแหละครับ ปริมาณที่เหมาะสม เป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป อันนี้คือสิ่งที่ต้องพิจารณา 🤔

ทีนี้มาเล่าจากประสบการณ์ของสมาชิกผมที่รายงานกันเข้ามาหลายท่านไว้ ให้เป็นข้อมูลสำหรับเพื่อนๆนะครับ .ขนมบางอย่าง ให้ข้อมูลที่น้อยเกินความเป็นจริง อาจจะเพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าคิดว่า หูย อันนี้พลังงานเยอะ แคลอรี่เยอะจังเลย ไม่กินดีกว่า (อย่าลืมนะครับ ว่าพวกนี้เขาวางตัวไว้ในตำแหน่งอาหารเพื่อสุขภาพ) ผลก็คือมักจะให้ข้อมูลที่น้อยกว่าจริง ในรูปที่เป็นผลจากห้องปฎิบัติการทดสอบอาหารของจุฬา ขนมชนิดนี้แจ้งข้อมูลไว้ว่ามีพลังงานอาหารร้อยกว่าแคลอรี่ แต่เมื่อทดลองทางเคมีแล้ว พบว่ามีพลังงานอาหารถึง 300 กว่า แคลอรี่ หรือประมาณ 3 เท่าของที่แจ้ง บางอย่างก็มากกว่าถึง 6 เท่า 😱

ย้อนไปที่ผมบอกด้านบน ว่าฉลากโภชนาการความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้คือ 20% นั่นคือ 0.2 ทั้งทางบวกและทางลบนะคับ แต่ที่แจ้งไว้ 100 แต่พลังงานจริง 300 นั่นคือ 3 เท่าตัวครับ 😭

ผลที่เกิดขึ้นคือ แม้เราจะดูแลโภชนาการของเรา คิดว่าทานเท่าที่อยู่ในระดับสมดุลย์เรียบร้อยแล้ว แต่มีสารอาหารและพลังงานส่วนนึงเกินมา ... มากถึง 3 เท่าตัว 😱

ผลิตภัณฑ์บางเจ้าเมื่อสอบถามข้อมูลเข้าไปก็มักจะอ้างว่ามีนักโภชนาการดูแลอยู่ ซึ่งเอาจริงๆก็ไม่ได้ช่วยการันตีอะไรเลยนะครับ เฮ่อ 🙄

อย่างในรูปการสนทนาที่ผมนำมาแปะไว้ ยังไม่ถึงข้อมูลโภชนาการนะครับ แต่ว่าปริมาณน้ำหนักต่อชิ้นก็ไม่เท่ากับที่แจ้งแล้ว ในรูปคือน้ำหนักมากกว่าแจ้ง (จริงๆก็กำไรเรานะ แต่สำหรับคนคุมอาหาร มีเป้าเพื่อการลดน้ำหนัก นั่นไม่น่าใช่เรื่องที่เขาต้องการ) เมื่อมีการสอบถามเข้าไป เขาก็ให้เทียบสัดส่วนอาหารบัญญัติไตรยางค์เลย ซึ่งโอเคครับ เป็นวิธีการที่ใช้ได้แหละ แต่ถ้าไม่ได้ตรวจสอบ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองทานเกินไปชิ้นนึงเท่าไหร่ แล้วพอหลายๆชิ้น .... ไม่อยากนึกภาพ 🤣 🤣 🤣 🤣

พวกขนม พวกของหวานมักจะแจ้งข้อมูลมาต่ำกว่าจริง ในอีกทางนึงที่ผมเจอบ่อยๆ พวกที่เป็นอาหารหลัก เป็นมื้ออาหาร มักจะแจ้งข้อมูลมาสูงกว่าจริง โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน ข้าวกล่องบางเจ้าบอกว่าโปรตีน 40 กรัม แต่พอเราลองชั่งน้ำหนักเนื้อแล้ว พบว่าหนักเพียง 80g เท่านั้นเอง ต่อให้คิดย้อนไปว่า เนื้อ 80 กรัมนี้ เป็นเนื้อดิบอาจจะหนักกว่า ก็ได้ไม่ถึงกับปริมาณที่ควรจะได้โปรตีน 40 กรัมหรอก เป็นไปไม่ได้ จะบอกว่าโปรตีนที่เหลือมาจากข้าว ก็ดูไม่น่าจะถึงด้วยเช่นกัน พวกนี้มักจะเจอบ่อยๆ ในกลุ่มอาหารมื้อหลัก 🙄

อ้อ ขนมสุขภาพบางชนิดโปรตีนเยอะมาก เมื่อสอบถามเข้าไปแจ้งว่า ใช้เวย์เป็นส่วนผสม ... โอเคละคับ เวย์ก็น่าจะโปรตีนเยอะ แต่ก็อยากเพิ่มเติมให้ทราบกันว่า เวย์ที่เขาใช้ในการทำขนม กับเวย์โปรตีนในทางโภชนาการกีฬานั้นก็คนละสิ่งกันนะครับ คุณค่าทางอาหารไม่ได้แจ่มโบ๊ะขนาดเวย์ของนักกีฬาหรอกครับ

ไม่กินแล้วดีกว่าขนมคลีนอาหารคลีน ?

ที่พิมพ์มานี่ก็ไม่ใช่ให้เรากลัว จนไม่กล้าทานขนม หรืออาหารคลีนนะครับ เพียงแต่จะบอกว่า ก็ให้ทานด้วยความตระหนัก และสนใจข้อมูลโภชนาการของอาหารไว้เสมอๆครับ บางอันดูแล้วมันไม่ make sense นะกับข้อมูลที่เขาแจ้ง เราก็ต้องมีความรู้เบื้องต้นไว้ติดตัวเพื่อพิจารณาหน่อยครับ ว่าควรทานที่ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะกับเป้าหมายเรา  😎.ใครที่ไม่ติดขนม ไม่อะไรกับพวกนี้ ก็ดีแล้วครับ อย่างผมเองก็ทานอาหารบ้านๆตามสะดวกนี่แหละ ข้าวไข่เจียว ข้าวผัดกระเพรา ฯลฯ แต่บางคนเขาก็อยากทานขนมบ้าง เพิ่มความอร่อย เพิ่มรสชาติ สร้างความพึงพอใจให้ชีวิตบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ครับ จริงๆทานได้แหละ ถ้าเรารู้ว่าเราควรทานอะไรแต่ละในปริมาณเท่าไหร่ มันถึงจะเหมาะสม มันถึงจะสมดุลย์ 😍

Mr. Pongpun Bouphet
🎫  Certificate
🏆 Nutrition Master (PESA)
🏆 Nutrition and Coaching (PN Level1)
🥈Exercise Instruction Program (PESA)
🎫 Specialized Certificate
🏆 Nutrition for Metabolic Health (PN)
🏆 Coaching Dietary Strategies (PN)