เบาหวานหายได้ ไม่ต้องใช้ยา

เบาหวานประเภท 2 หายได้ โดยไม่ต้องใช้ยา แค่ปรับโภชนาการเพื่อลดน้ำหนัก ไม่จำเป็นต้อง Lowcarb หรือ Keto ก็ได้


เบาหวานหายได้ ไม่ต้องใช้ยา

30 สค. 2564 สมาคมเบาหวานนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกหลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้ประกาศเกณฑ์ "หายเบาหวาน" สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 (Remission in Type 2 Diabetes) ออกมาอย่างเป็นทางการแล้วนะครับ โดยเกณฑ์ของการหายจากเบาหวาน โดยไม่ใช้ยานั้น มีเกณฑ์บ่งชี้ดังนี้ [1]

  1. น้ำตาลสะสม (HbA1c) มีระดับต่ำกว่า 6.5 เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 เดือน โดยไม่ใช้ยาลดน้ำตาล
  2. หรือ น้ำตาล Fasting (Fasting Blood Glucose) มีระดับต่ำกว่า 126 ต่อเนื่อง 3 เดือน โดยไม่ใช้ยาลดน้ำตาล

หลังจากที่มีการประกาศเกณฑ์ ออกมาก็มีกลุ่ม Diet Doctor ในโลกออนไลน์บางกลุ่ม ออกมาโหนกระแสดังกล่าว ว่าเบาหวานหายได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องที่ถูกต้องนั่นแหละครับ แต่ที่ต้องออกมาพิมพ์ เพราะ Diet Doctor กลุ่มดังกล่าว อ้างต่อไปอีก ว่าเบาหวานหายได้ ด้วยการทานโภชนาการแบบ คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low carb diet) บ้าง โภชนาการแบบคีโต (Ketogenic Diet) บ้าง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ว่าถ้าจะหายจากเบาหวาน ต้องทานโลว์คาร์บ ต้องทานคีโต (บางคนรวมไปอีกว่าต้องทำ IF หรือ Intermittent Fasting ด้วย) ซึ่งถ้ามองไปถึงปูมของแต่ละท่านในกลุ่มดังกล่าว เอาจริงๆ ก็ไม่ค่อยน่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะบางคนขายของคีโตมาก่อน บางคนก็ขายคอร์สสอน IF สอน Keto กันแบบเป็นเรื่องเป็นราว ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้มองว่ามันมีเรื่องของ "ผลประโยชน์ทับซ้อน" เข้ามาเกี่ยวข้อง

เบาหวานประเภท 2 หายได้ ไม่จำเป็นต้องทาน Lowcarb หรือ Keto เพียงอย่างเดียว

เบาหวานหายได้ ด้วยโภชนาการแบบใดก็ได้

จริงๆแล้วเบาหวานประเภท 2 หายได้จากการทานโภชนาการแบบใดก็ได้ หัวใจสำคัญของการหายจากเบาหวานประเภท 2 คือการลดน้ำหนักได้ ลดน้ำหนักได้ก็หายเบาหวานได้ มีงานวิจัยศึกษาแบบ Umbrella review ซึ่งนำเอางานในรูปแบบ Systematic review และ Meta-analyses มาวิเคราะห์ ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก โดยนักวิจัยชาวไทย ดร.นพ.ชายธง ชูเรืองสุข (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ประเทศไทย) ร่วมกับ ศ.นพ.ไมเคิล ลีน (มหาวิทยาลัยกลาสโกว) และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (สหราชอาณาจักร) และมหาวิทยาลัยโอทาโก (นิวซีแลนด์)

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าไม่ว่าเป็นโภชนารูปแบบใด ก็สามารถที่จะทำให้หายจากเบาหวานได้ ถ้าสามารถควบคุมน้ำหนักตัว ได้ซึ่งผลที่ว่าก็มาจากการทานพลังงานอาหารที่ต่ำลง จะทานแบบ เมดิเตอเรเรียน โลว์แฟต โลว์คาร์บ คีโต ใช้อาหารทดแทนมื้ออาหารทั้งโปรแกรม หรือใช้อาหารทดแทนมื้ออาหารร่วมกับการทานอาหารตามปกติ ก็สามารถทำให้หายจากเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ทั้งสิ้น และจริงๆอัตราการสำเร็จจากการปรับโภชนาการของการทานอาหารทดแทน มีสูงกว่าการทานแบบโลว์คาร์บ หรือคีโตด้วยซ้ำนะครับ [2]

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่จะบอกว่าโภชนาการแบบโลว์คาร์บ คีโต ดีหรือไม่ดีในตอนนี้นะครับ อันนั้นยังต้องศึกษากันต่อไปอีก ยกตัวอย่างเช่นการศึกษา Ketosis กับภาวะต่างๆของหัวใจในหนูทดลอง พบว่ามีบางอย่างที่มีผลต่อหัวใจที่ถ้าหากเปรียบเทียบว่าผลนี้เกิดในมนุษย์แล้ว อาจทำให้มีปัญหากับเนื้อเยื่อหัวใจได้ [3] [4] ที่อยากจะบอกก็คือว่าการหายจากเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นสามารถทำได้โดยโภชนาการใดๆก็ตาม ที่เราสามารถที่จะทำมันได้สะดวก สามารถทำแล้วเราลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักได้ ตราบที่มันไม่ได้เป็นโภชนาการที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบอะไรกับเราในระยะยาว ก็ถือว่าโอเคทั้งนั้นถ้าจะทำเพื่อให้หายจากภาวะเบาหวานที่เป็นอยู่

Photo by Anupam Mahapatra / Unsplash

การออกกำลังกายก็เป็นประโยชน์

ไม่เพียงแต่การโภชนาการเท่านั้น การออกกำลังกาย การฝึกเวทเทรนนิ่ง การฝึกแบบใช้แรงต้าน (Resistance Training) ก็มีผลดีต่อการลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด [5] ถ้าสุขภาพเรายังอยู่ในระดับที่ออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายก็ส่งผลดีด้วยเช่นกัน หรือถ้าสะดวกและมีเวลา การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งร่วมกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ก็มีผลดีต่อการควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเช่นเดียวกัน [6]

ก็จะเห็นได้ว่าทางออกสำหรับการ "หาย" จากเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นค่อนข้างกว้าง ไม่ได้มีเฉพาะต้องทานโลว์คาร์บ หรือคีโต เท่านั้นนะครับ ลองเลือกดูว่าเราชอบแนวทางไหน แล้วทางไหนที่เราจะทำมันได้ยาว ทำต่อเนื่องจนมันให้ผลลัพทธ์ที่เราต้องการ ขอให้ทุกท่านสุขภาพดีครับ

อ้างอิง

  1. Consensus Report: Definition and Interpretation of Remission in Type 2 DiabetesMatthew C. Riddle, William T. Cefalu, Philip H. Evans, Hertzel C. Gerstein, Michael A. Nauck, William K. Oh, Amy E. Rothberg, Carel W. le Roux, Francesco Rubino, Philip Schauer, Roy Taylor, Douglas TwenefourDiabetes Care 2021 Aug; dci210034.https://doi.org/10.2337/dci21-0034
  2. Churuangsuk, C., Hall, J., Reynolds, A. et al. Diets for weight management in adults with type 2 diabetes: an umbrella review of published meta-analyses and systematic review of trials of diets for diabetes remission. Diabetologia (2021). https://doi.org/10.1007/s00125-021-05577-2
  3. Xu, S., Tao, H., Cao, W. et al. Ketogenic diets inhibit mitochondrial biogenesis and induce cardiac fibrosis. Sig Transduct Target Ther6, 54 (2021). https://doi.org/10.1038/s41392-020-00411-4
  4. Combined Metabolomic and Proteomic Analysis of Human Atrial Fibrillation
    Heart Rhythm Disorder. Manuel Mayr, Shamil Yusuf, et al. 2008 Feb, 51 (5) 585–594
    https://www.jacc.org/doi/full/10.1016/j.jacc.2007.09.055
  5. Westcott, Wayne L. PhD Resistance Training is Medicine, Current Sports Medicine Reports: July/August 2012 - Volume 11 - Issue 4 - p 209-216
    doi: 10.1249/JSR.0b013e31825dabb8
  6. Church, T. S., Blair, S. N., Cocreham, S., Johannsen, N., Johnson, W., Kramer, K., Mikus, C. R., Myers, V., Nauta, M., Rodarte, R. Q., Sparks, L., Thompson, A., & Earnest, C. P. (2010). Effects of aerobic and resistance training on hemoglobin A1c levels in patients with type 2 diabetes: a randomized controlled trial. JAMA, 304(20), 2253–2262. https://doi.org/10.1001/jama.2010.1710

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK