ค่า BMI คืออะไร ? ค่านี้มันน่าเชื่อถือแค่ไหน ?

BMI ย่อมาจาก Body Mass Index เป็นค่าประมาณการสัดส่วนไขมัน โดยเทียบจากส่วนสูงและน้ำหนักตัว ค่า BMI ใช้ในการเปรียบเทียบเรากับเกณฑ์มาตรฐาน ว่าอยู่ในกลุ่มไหน


ค่า BMI คืออะไร ? ค่านี้มันน่าเชื่อถือแค่ไหน ?

ค่า BMI ย่อมาจาก Body Mass Index นะครับ ค่านี้เป็นค่าประมาณการสัดส่วนไขมัน โดยเทียบจากส่วนสูงและน้ำหนักตัว ค่า BMI ไม่ได้เกิดจากการวัดไขมันในร่างกายเราตรงๆ เหมือนกับ %body fat ที่กล่าวถึงในบทความก่อนนะครับ แต่มันจะเป็นการคำนวณโดยอ้อม โดยใช้สูตรคำนวณหาค่าประมาณการล้วนๆเลย ค่า BMI นี่เขาใช้ช่วยในการวัดว่าเราเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ น้อยเกินเกณ์ หรืออยู่ในเกณฑ์พอดี

คนที่มีค่า BMI สูงก็จะมีแนวโน้มที่จะมีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก ในขณะที่คนที่มีค่า BMI ต่ำ ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายน้อยกว่า  ซึ่งในทางการแพทย์ คนที่มีค่า BMI สูง ก็จะมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพในด้านอื่นๆ ตามมาในที่สุด เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน และโรคอ้วน ส่วนคนที่มีค่า BMI ต่ำเกินไป ก็จะมีปัญหาทางสุขภาพด้านอื่น เช่น กระดูกเสื่อม ภูมิคุ้มกันต่ำ โลหิตจาง

ค่า BMI มีประโยชน์ในการคัดกรองคนที่มีปัญหาด้านน้ำหนักตัว ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันค่า BMI เอง ก็มีข้อจำกัดของมันนะครับ เมื่อนำค่า BMI มาใช้กับคนที่เป็นนักกีฬา หรือคนที่มีกล้ามเนื้อมากๆ เมื่อคำนวณด้วยค่า BMI เขาจะกลายเป็นคนที่อ้วนน้ำหนักเกิน ทั้งๆที่ไขมันสะสมไม่มีปัญหาอะไรเลยสำหรับคนกลุ่มนี้ และเมื่อนำมาใช้กับคนที่สูงอายุ ค่า BMI ก็จะให้ค่าที่ต่ำเกินไปที่จะประเมินสัดส่วนไขมันในร่างกาย ของคนสูงอายุ หรือคนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยๆได้

เอาละครับก่อนจะไปลุยเนื้อหาบทความกัน ขอฝากเนื้อหาเดียวกันรูปแบบคลิปพูดคุยไว้หน่อยนะครับ ใครสนใจรับชมรับฟังกดรับชมรับฟังกันไปพลางๆได้เลยครับ

สูตรหาค่า BMI

ค่า BMI สามารถคำนวณออกมาได้โดยการนำเอาส่วนสูงยกกำลังสอง หารด้วยน้ำหนักตัว

BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง2 (เมตร)

ลองคลิกไปคำนวณออนไลน์ดูได้นะครับ มีอยู่หลายที่เลยอย่างเช่น โปรแกรมคำนวณ BMI ของโรงพยาบาลกรุงเทพฯ

ในการคำนวณ BMI ของผู้ใหญ่กับเด็กนี่จะมีความต่างกันอยู่นะครับ เส้นแบ่งเด็กและผู้ใหญ่จะอยู่ที่อายุ 20 ปี ถ้าต่ำกว่า 20 ถือว่าเป็นเด็ก ถ้า 20 แล้วหรือมากกว่าก็เป็นผู้ใหญ่ ถ้าใครอายุ 30+ แต่ยังหน้าใสวัยทีน อะไรนั่นไม่เกี่ยวกันนะครับ 555 ในส่วนของเด็กนั้นเขาจะต้องเทียบกับอันดับตารางเปอร์เซนต์ตามเพศและวัยอีกนะครับ รายละเอียดดูได้ที่เว็บ CDC ของสหรัฐนะครับ ส่วนท่านผู้อ่านบทความนี้ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ผู้ใหญ่แล้ว มาดูกันต่อเลยครับ

จากค่า BMI ที่คำนวณได้จากสูตรข้างต้น เราก็จะมาเทียบตามตารางนี้ ว่าอยู่ในเกณฑ์ไหนนะครับ

BMI เกณฑ์น้ำหนักตัว
ต่ำกว่า 18.5 ต่ำกว่าเกณฑ์
18.5 – 24.9 เกณฑ์ปกติ
25.0 – 29.9 น้ำหนักเกินเกณฑ์
30.0 – 39.9 มีภาวะโรคอ้วน
มากกว่า 40 โรคอ้วนขั้นรุนแรง

ด้วยความที่ BMI เป็นค่าที่วัดผลออกมาได้ง่าย แทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องไม้เครื่องมืออะไรพิเศษเลย มันจึงเป็นค่าตัวเลขที่สะดวกและเหมาะที่จะนำมาใช้ประเมินในเบื้องต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดการเก็บข้อมูลต่อคนจำนวนมากๆ อย่างตามโรงเรียน สถานพยาบาลนะครับ

ค่า BMI และผลต่อสุขภาพ

จากสถิติทางการแพทย์ของสหรัฐพบว่า 2 ใน 3 ของประชากรมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และ 1 ใน 3 มีภาวะโรคอ้วนนะครับ ส่วนของไทยสถิติปี 2534-2552 นี่กว่า 1 ใน 3 ของประชากรมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ และ 1 ใน 10 จัดอยู่ในภาวะโรคอ้วนนะครับ และดูจากแนวโน้มแล้วเนี่ยเหมือนว่าคนไทยก็จะมีสัดส่วนคนอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนะครับ อันนี้ก็น่ากังวล เพราะนอกจากอ้วนแล้ว มันจะทำให้เราเป็นโรคอื่นตามมาอีกด้วย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยอ้วนขึ้นมากนะครับ

การที่เราน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นผลจากความไม่สมดุลย์ของพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป เมื่อเทียบกับพลังงานที่ร่างกายใช้ไปในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน เมื่อเรากินเข้าไปมากกว่าที่ร่างกายนำไปใช้งาน มันก็จะเหลือเป็นส่วนเกินและเก็บสะสมไว้ เก็บไว้มากๆ ก็อ้วนเพิ่มขึ้นนั่นเอง ถ้าคำนวณออกมาแล้วค่า BMI เราอยู่ในเกณ์ที่สูง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องรอช้าครับ ได้เวลาออกกำลังกาย ควบคุมอาหารเพื่อลดมันลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพของตัวเอาเองครับ

อ้อ ไม่ใช่เฉพาะคนที่เกินเกณฑ์นะครับ อย่างที่บอกคนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็มีปัญหาทางสุขภาพที่ต้องระมัดระวังไปในอีกทางนึงด้วยเช่นกัน

กลุ่มคนที่ค่า BMI อาจจะใช้ตรงๆไม่ได้

ก็จะเป็นพวกกลุ่มที่แข็งแรงมากๆ ออกกำลังกายเล่นกีฬาแบบจริงจังเป็นประจำ พวกที่กล้ามเนื้อแข็งแรง มากๆ อันนี้ถ้าคำนวณออกมาด้วย BMI อย่างเดียว จะออกไปในทางเกินเกณฑ์นะครับ แต่ถ้าพิจารณาแล้ว สัดส่วนไขมัน ไม่ได้สูงเกิน ค่าความฟิตจากการทดสอบรูปแบบต่างๆ ไม่ได้แย่ อันนี้ไม่มีปัญหาครับ BMI มันสูงเพราะน้ำหนักกล้ามเนื้อที่เยอะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานนั่นเอง

Regrets - Muscular man holding head in the prison cell.
Photo by Damir Spanic / Unsplash

แต่!! ถ้าเราไม่ได้มีสัดส่วนไขมันตามเกณฑ์นักกีฬา ไม่ได้ฟิต ไม่ได้ออกกำลังกายหนักๆ ไม่ได้มีกล้ามเนื้อแข็งแรงแน่นๆแบบนักกีฬา ถ้า BMI เกิน ก็คือเกินนะครับ อย่าไปพยายามบิดพยายามหลอกว่าฉันหนักกล้ามเนื้อ อันนั้นมันไม่ช่วยอะไร 555

สรุป

ค่า BMI ก็ถือว่าสามารถใช้เป็นดัชนีทางสุขภาพได้นะครับ มีการรับรองและใช้อย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นค่าที่วัดตรงๆตัวมาอย่าง Body Fat แต่ก็พอให้เราใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นพื้นฐานสำหรับประเมินสุขภาพและร่างกายเราได้ วันนี้เราก็ทำความรู้จักกับค่า BMI กันไปแล้ว ก็อย่าลืมนะครับ ตรวจตราสุขภาพร่างกายของเราเองกันอย่างสม่ำเสมอ อ้วนใหม่ๆมันลดง่ายกว่าอ้วนมากๆครับ เชื่อผม ;-)

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK