ออกกำลังกายแบบแอโรบิค อาจช่วยให้เราพัฒนาการฝึกเวทได้ดีขึ้น

การออกกำลังกายแบบแอโรบิค อาจจะส่งผลดีต่อการพัฒนากล้ามเนื้อในการฝึกเวทเทรนนิ่งได้นะครับ


ออกกำลังกายแบบแอโรบิค อาจช่วยให้เราพัฒนาการฝึกเวทได้ดีขึ้น

เรื่องการออกกำลังกายสองแบบควบคู่กันนี่ก็มีการศึกษากันมาเยอะ งานนี้เป็นอีกงานนึงที่น่าสนใจ ประเด็นคือเขาดูในเรื่องระดับเซลล์ และผลที่ได้เป็นเรื่องระดับเซลล์ ต้องบอกก่อนว่าอาจจะส่งผล หรือไม่ส่งผลในระดับที่ใหญ่กว่านั้นอย่างขนาดกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง ก็ได้นะครับ

งานนี้เป็นการศึกษาของ Brown และคณะ (2022) [1] เขาศึกษาผลของการปรับสภาพร่างกายจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic Conditioning) ว่ามีผลยังไงบ้างต่อ Satellite cell (SC) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ เมื่อมันไปรวมตัวกล้ามใยกล้ามเนื้อเดิม จะทำให้องค์ประกอบของกล้ามเนื้อมีเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อได้รับการซ่อมแซม และมีขนาดเพิ่มขึ้น นั่นคือการทำงานนึงของเจ้านี่

ศึกษายังไง ?

นอกจาก SC แล้วก็ดูผลในเรื่องของ Ribosome ซึ่งมีบทบาทต่อการสังเคราะห์โปรตีน หลังจากการออกกำลังกายด้วย โดยที่ทั้งสองอย่างที่ดูผลเนี่ย เขาดูผลหลังจากออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน (Resistance Exercise, RE) ยกเวทนั่นแหละว่าง่ายๆ โดยเปรียบเทียบระหว่างสภาพร่างกายที่มีการฝึกแอโรบิคมาก่อน กับไม่ได้ฝึกแอโรบิคมาก่อน

การศึกษาครั้งนี้ทำในผู้ชายและผู้หญิง 14 คน อายุเฉลี่ย 21 ปีสุขภาพดีปกติ ให้ฝึกแอโรบิคที่ขาข้างนึง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ส่วนขาอีกข้างนึงไม่ฝึก จากนั้นพอถึงวันที่จะทดสอบ Resistance Exercise ตอนนั้นทดสอบพร้อมกันทั้งสองข้างเลย โดยเขาดูผลจากเนื้อเยื่อที่เก็บมาก่อน RE เทียบกับ 24 และ 48 ชั่วโมงหลังจากนั้น

ผลที่ได้คือ ?

เนื่องจากเขาศึกษาในระดับเซลล์ รายละเอียดมันจะยุ่บยั่บๆอยู่สักหน่อยใครสนใจละเอียดๆ ไปอ่านในเนื้องานกันได้นะครับ ตรงนี้ผมจะพิมพ์ถึงแค่คร่าวๆ ซึ่งหลังจากที่เขาเก็บเนื้อเยื่อมาวิเคราะห์สิ่งต่างๆแล้วเนี่ย เขาพบว่าหลังเกิด Eccentric contraction จากการยกเวท ในขาข้างที่ฝึกแอโรบิคมาก่อน มี SC และ Ribosome ที่มากกว่าอีกข้างที่ไม่ได้ฝึกแอโรบิคมาก่อน

ซึ่งอาจจะหมายถึงว่าการฝึกแอโรบิคนั้น ช่วยให้ผลของการฝึก Resistance Exercise ได้ผลที่ดีขึ้น จากการที่มี Satellite cell และข้อบ่งชี้เรื่อง Ribosome biogenesis ที่มากกว่า หลังจากการฝึก ซึ่งเป็นข้อมูลที่สนับสนุนสมมุติฐานที่ว่า สถานะการฝึก (เคยออกกำลังกายมาก่อน กับไม่เคยออกมาเลย) ส่งผลกับการทำงานของ Satellite cell ด้วย

สรุป

สำหรับเราๆ เอาแบบง่ายๆ ข้อมูลจากงานนี้อาจทำให้เห็นว่าการฝึกแอโรบิคด้วยนั้น อาจจะช่วยส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อจากการฝึกเวทได้ เมื่อเทียบกับการไม่ได้ฝึกแอโรบิคเลย ทั้งนี้ผลในระดับเซลล์ อาจจะยังบ่งบอกผลในระดับความแข็งแรง หรือขนาดกล้ามเนื้อ ชัดเจนไม่ได้นะครับ แต่ถ้าดูจากงานอื่น การฝึกแอโรบิคพัฒนาระบบหลอดเลือดและหัวใจควบคู่ไปด้วย ก็ให้ผลที่ดี ถ้าสะดวกก็ควรทำควบคู่กับการเวทด้วย

อ้างอิง

  1. Brown, A., Thomas, A. C. Q., Hatt, A. A., McGlory, C., Phillips, S. M., Kumbhare, D., Parise, G., & Joanisse, S. (2022). Aerobic conditioning alters the satellite cell and ribosome response to acute eccentric contractions in young men and women. American journal of physiology. Cell physiology, 323(6), C1577–C1585. https://doi.org/10.1152/ajpcell.00418.2022

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK