Pull over ท่านี้เล่นแล้วได้ส่วนไหนกันแน่ อก หรือปีก

Pullover เล่นแล้วได้ส่วนไหนกันแน่ อก หรือว่าหลัง หลังหรือว่าอก ?


Pull over ท่านี้เล่นแล้วได้ส่วนไหนกันแน่ อก หรือปีก

เห็นชื่อแล้วบางคนอาจจะสงสัยยิ่งกว่าได้ส่วนไหนกันอีกนะครับ แต่อาจจะสงสัยไปถึงว่า มันคือท่าอะไร 555 Pull over เป็นท่าที่จะว่าไปก็ old scholl อยู่พอสมควรนะครับ ในบางยุคก็ไม่มีใครเล่นกัน บางยุคก็มีคนงัดมาเป็นประเด็นกันเป็นระยะๆ

บ้างก็ว่า Pull over เป็นท่าเล่นอก (Pectoralis Major, Pec) บ้างก็บอกว่ามันเป็นท่าฝึกหลัง ได้ปีก (Latissimus dorsi, Lat) จริงๆแล้วมันใช้กล้ามเนื้อส่วนไหนในการเคลื่อนไหวท่านี้กันแน่ งานนี้เป็นการศึกษาเรื่องนี้แหละครับ ว่าในตอนทำท่า Pull over มีการใช้กล้ามเนื้อมัดไหนยังไงมาทำงานบ้าง จริงๆ เรื่องคล้ายกันนี้ก็มีการศึกษามาก่อนหน้าแล้วนะครับ ไม่ใช่งานแรกที่ทดสอบท่านี้ งานนี้เป็นการศึกษาของ Muyor , Miñarro และ Alacid (2022) [1]

ส่วนที่ทำให้งานนี้แตกต่างจากงานอื่น ก็เป็นเรื่องของการวัดผลการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Abdominal) บางงานก่อนหน้านี้ทดสอบเทียบกับ Bench Press ส่วนงานนี้เทียบกับ Pull down อ่ะตรงนี้จริงๆไม่ค่อยเป็นประเด็นเท่าไหร่ เวลาทำวิจัยเขาก็ต้องให้มีว่าแตกต่างจากงานอื่นยังไงเข้ามาบ้างนั่นแหละครับ อันนี้ใครทำวิจัยอยู่หรือเคยทำก็น่าจะคุ้นกันดี

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาใช้อาสาสมัครสุขภาพดี มีประสบการณ์ฝึก Resistance Training อย่างน้อย 1 ปี แล้วก็ฝึกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไม่มีการบาดเจ็บกล้ามเนื้อมาก่อนหน้านี้อย่างน้อย 1 ปี ก็ได้คนมาทดลอง 20 คนอายุเฉลี่ย 26 ปี จากนั้นก็ให้มาทำท่าฝึก 2 ท่านี้ แล้วประเมินผลการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography, EMG) แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติ

รูปแบบของท่าที่ Pullover และ Pulldown ที่ศึกษาในงานนี้

ผลที่ได้คือ ?

ผลเนี่ยเขาพบว่าท่า Pull over มีการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าอก และหน้าท้อง มากกว่าท่า Pull down ทั้งแบบจับกว้างและจับแคบ ส่วนท่า Pull over จะมีการทำงานของ Lat มากกว่าอย่างชัดเจน และทุกท่ามีผลต่อกล้ามเนื้อหลังแขน (Triceps) ไม่ได้แตกต่างกันมาก สำหรับ Pull down ถ้าเทียบระหว่างจับแคบพอดีไหล่ กับจับกว้างกว่าไหล่ แบบจับกว้างมีการทำงานกล้ามเนื้อมากกว่าเล็กน้อย

ผลที่ได้บางส่วน

ทั้งนี้จะบอกว่าท่า Pull over เป็นท่าที่ฝึกกล้ามเนื้อหน้าอกได้ดีรึเปล่าอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่ได้จากงานนี้ตรงๆนะครับ ที่เราเห็นชัดๆคือในท่า Pull over ถ้าเทียบว่ากล้ามเนื้อส่วนไหนมันหดตัวมากกว่ากันในขณะที่ทำท่านั้นอยู่ พบว่า Pec หดตัวมากกว่า Lat นะครับ ส่วน Pull down นั้น Lat หดตัวมากกว่า Pec

และต้องย้ำอีกนิดว่าเป็นเฉพาะผลที่พบในงานนี้นะครับ เพราะอย่างในการศึกษาด้วย EMG เทียบ Pull over กับ Bench Press พบว่าสัญญาณไฟฟ้าในตอนทำ Pull over ในงานนั้น Lat ทำงานมากกว่า Pec ซึ่งตรงนี้ถ้าใครสนใจต้องไปศึกษารายละเอียดกันอีกเอานะครับ ว่าทำไมสองงานนี้ เอาแค่เฉพาะผลของ Pull over แล้วมันถึงออกมาแตกต่างกัน [2]

รวมถึงว่าถ้าเรามองในแง่ของการพัฒนากล้ามเนื้อทั้ง Strength และ Hypertrophy แล้วนั้น การใช้ EMG มาประเมิน ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะพัฒนาทั้งสองมุมนี้ได้ดีกว่ากันสอดคล้องกับค่าที่ได้จาก EMG หรือไม่นะครับ

สรุป

ส่วนท่า Pull over นั้นสำหรับผมเองมองว่าถ้ามีอุปกรณ์เพียงพอ การจะฝึกอกให้เน้นอก ฝึกหลังให้เน้นหลัง เฉพาะที่เห็นในงานนี้ Pull down ก็ดูจะได้หลังและปีกที่ให้ผลดีกว่า ส่วนอกก็ยังมีตัวเลือกให้นำมาฝึกอีกหลายท่า แต่ถ้าชอบ หรืออยากลองท่านี้ดู Pull over ก็เป็นท่านึงที่นำมาฝึกได้ ระวังดัมเบลหรือบาร์เบลอย่าให้มันหล่นใส่หน้าก็พอ 55

อ้างอิง

  1. Muyor, J.M.; López-Miñarro, P.A.; Alacid, F. Comparison of Electromyographic Activity during Barbell Pullover and Straight Arm Pulldown Exercises. Appl. Sci.2022, 12, 11138. https://doi.org/10.3390/app122111138
  2. Campos, Yuri de Almeida Costa and Silva, Sandro Fernandes da. Comparison of electromyographic activity during the|bench pressand|barbell pulloverexercises. Motriz: Revista de Educação Física [online]. 2014, v. 20, n. 2 [Accessed 30 December 2022], pp. 200-205. Available from: https://doi.org/10.1590/S1980-65742014000200010. ISSN 1980-6574. https://doi.org/10.1590/S1980-65742014000200010.

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK