แค่กิน Low carb ปุ๊บ สุขภาพดีจริงปั๊บเลยรึเปล่า ?

ทานแบบ Low carb ดีต่อสุขภาพเสมอไปเลยรึเปล่า จำเป็นต้องคำนึงถึงอะไรมั้ย หรือแค่ทานคาร์โบไฮเดรตให้ต่ำ ก็ดีต่อสุขภาพแล้ว


แค่กิน Low carb ปุ๊บ สุขภาพดีจริงปั๊บเลยรึเปล่า ?

ในปัจจุบันหลายคนมีความเข้าใจกันว่า อยากสุขภาพดีต้องทานโภชนาการแบบ Low carb diet (LCD) เท่านั้นเพราะคาร์โบไฮเดรตนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ มันเป็นแบบนั้นจริงๆรึเปล่า ก็มีคนตั้งคำถามนี้เหมือนผม และเขาก็ทำวิจัยออกมา

งานนี้เป็นการศึกษาของ Huang และคณะ (2022) [1] เขาก็สงสัยเหมือนกับที่ผมตั้งคำถามขึ้นมา เพราะว่าบางงานก็บอกว่า LCD มีข้อดีต่อสุขภาพ ในด้านความเสี่ยงนั้นนี่โน่น แต่บางงานก็พบว่าการทานผลไม้ หรือพวกธัชพืช ซึ่งมีคาร์บเป็นส่วนหลักมาก ก็ส่งผลดีเช่นกัน หรือการเปลี่ยนจากไขมันอิ่มตัว เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ก็ส่งผลดี มันมีความไม่คงที่ของหลักฐานที่ปรากฎ ก็เป็นที่มาของคำถามในงานวิจัยนี้นะครับ

Huang และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน

เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional โดยอาศัยข้อมูลจากตัวอย่าง 34,785 คน ข้อมูลค่อนข้างกว้าง ซึ่งเก็บข้อมูลศึกษาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 1999 โดยสำนักสถิติสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ พวกข้อมูลโภชนาการก็ใช้การประเมินด้วยวิธี 24-h dietary recall และมีการเก็บข้อมูลสุขภาพต่างๆ เช่นผลเลือด ข้อมูลทั่วไป อายุ เพศ น้ำหนัก เชื้อชาติ ฯลฯ

ศึกษายังไง ?

เขาก็เอามาแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มที่ทาน LCD แบบ Healthy และ Unhealthy ถ้าเป็นคาร์บพวกที่ Healthy ก็เป็น whole grains, whole fruit, legumes แล้วก็พวกผักกลุ่มที่ไม่มีแป้ง (non-starchy) ส่วนพวกที่เขาจัดไว้เป็น Unhealthy ก็ refined grains , น้ำตาล, น้ำผลไม้ , มันฝรั่ง ผักที่เป็นแป้ง

ส่วนไขมันก็ เป็น ไขมันไม่อิ่มตัว และ ไขมันอิ่มตัว ส่วนโปรตีน อันนี้เป็นโปรตีนพืช และโปรตีนสัตว์ ซึ่งจากการจัดกลุ่มอาหาร เขาจะนำไปคิดเป็นคะแนนออกมาอีกที เพื่อจัดกลุ่มการทานออกเป็นกลุ่มๆ ระหว่าง Healthy LCD, Unhealthy LCD , Animal-based LCD และ Plant-based LCD และคะแนน Overall LCD (ตรงนี้รายละเอียดในงานมีอธิบายวิธีคิดไว้หมดนะครับ)

ผลที่ได้คือ ?

จากนั้นก็นำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ทางสถิติ ก็พบว่า Healthy LCD นั้นสัมพันธ์กับ insulin ที่ต่ำกว่า , การดื้ออินซูลิน (HOMA-IR) น้อยกว่า มีการอักเสบ (CRP) น้อยสุด แต่ถ้าเป็น Unhealthy LCD เนี่ย พวกต่างๆที่ว่ามาตรงกันข้ามเลย

ผลต่อค่า Metabolism น้ำตาล

ในแง่ของ lipid กลุ่มที่ทานเป็น Healthy LCD ก็สัมพันธ์กับค่า Triglyceride (TG) ที่น้อยกว่า มี HDL-C สูงกว่า ส่วนกลุ่ม Unhealthy LCD สัมพันธ์กับ Total cholesterol (TC) , LDL-C ที่สูงกว่า ในภาพรวมกลุ่มที่ทาน Plant-based LCD สัมพันธ์กับ TG ที่น้อยกว่าและมี HDL-C สูงกว่า ส่วน aninal based LCD TG ต่ำ TC และ HDL-C สูง

ผลต่อค่า Lipid

ว่าง่ายๆก็คือ ทาน Low carb ดูจะมีผลดีก็จริง แต่ถ้าทาน Low carb แบบ Unhealthy ก็ยังมีผลดีต่อสุขภาพที่น้อยกว่า LCD แบบ Unhealthy มีความสัมพันธ์กับค่าการอักเสบที่สูงกว่าด้วย (อาจจะกล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงที่มากกว่าด้วย) ทั้งนี้เกณฑ์ของ Low carb ในงานวิจัยคือทานพลังงานจากคาร์บต่ำกว่า 40% นะครับ

ผลต่อการอักเสบ

ทั้งนี้ย้ำอีกทีว่าเป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional เราจะเห็นภาพความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงนะครับ ไม่ใช่บอกว่ามันเป็นสาเหตุ อีกทั้งการประเมินโภชนาการ ด้วยวิธีที่ใช้ก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้พอสมควร

ก็จะเห็นว่าปัจจัยเรื่องคุณภาพ หรือแหล่งของอาหารนั้นก็มีความสำคัญนะครับ ไม่ใช่แค่ว่ามีสัดส่วนอาหารหลัก ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำแล้วจะต้องดีเสมอไป ทั้งนี้ถ้าเรามีเป้าหมาย สำหรับการลดน้ำหนัก จากการศึกษาเขาก็พบว่า Low carb นั้นลดน้ำหนักได้ดีในช่วงแรก แต่ระยะยาว ก็ให้ผลไม่ต่างกันสัดส่วนปกติ หรือแบบ High carb สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ว่าทานแบบไหน เกิด Calories deficit ซึ่งทำให้ลดน้ำหนักได้สำคัญกว่าครับ [2]

หรือแม้แต่ผลของ ไขมันพอกตับ ทานแบบไหนก็ให้ผลได้ไม่ต่างกัน ถ้า Calories deficit หรือจะเป็นผลทางด้านความไวอินซูลิน [3] หรือถ้าทานพลังงานอาหารเท่าๆกัน ก็ให้ผลไม่แตกต่างกันนะครับ ต่อการฟื้นฟูระบบ Metabolic [4]

สรุป

แต่ก็พอให้เห็นภาพ ซึ่งมันก็ค่อนข้างจะ make sense อยู่จากข้อมูลอีกหลายๆอย่างที่เคยได้ศึกษามา การทานอาหารที่มันค่อนข้างจะ Healthy พิมพ์นิยมมันก็ส่งผลดีต่อสุขภาพนั่นแหละ อย่างไรก็ตามอาหาร Healthy ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องราคาแพงเสมอไปนะครับ ถ้าเข้าใจโภชนาการพื้นฐาน เราสามารถเลือกวัตถุดิบต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของเราได้

บางครั้งอาหาร Unhealthy มันก็อร่อย ทานแล้วแฮปปี้ มันก็ทานได้ ถ้าเราไม่ได้ตะบี้ตะบันทานเป็นประจำ ทานเป็นปริมาณมากๆ ก็ไม่ถึงกับต้องเครียดเพราะการตัดสินอาหารออกเป็นอาหารดี อาหารเลว เพียงแต่ดูความเหมาะสม ของดีต่อสุขภาพ ของที่มันอร่อย อันไหนควรจะทานมากทานน้อยเท่าไหร่  โตแล้วก็เชื่อว่าคิดกันเองได้ :-)

แหล่งอ้างอิง

  1. Huang, Y., Li, X., Zhang, T., Zeng, X., Li, M., Li, H., . . . Yang, W. (2022). Healthy and unhealthy low-carbohydrate diets and plasma markers of cardiometabolic risk. British Journal of Nutrition, 1-37. https://doi.org/10.1017/S0007114522003038
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2020, September 22). Low carb หรือ low fat โภชนาการแบบไหนลดน้ำหนักได้ดีกว่ากัน. Fat Fighting. Retrieved October 3, 2022, from https://www.fatfighting.net/articles-2020-09-22-low-carb-vs-low-fat-which-is-better/
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 23). Low carb หรือ low fat กินแบบไหนถึงจะลดไขมันพอกตับได้ ? Fat Fighting. Retrieved October 3, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-22-low-fat-diet-versus-low-carbohydrate-diet-for-management-of-non-alcohol-fatty-liver-disease/
  4. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 21). ถ้าให้กินเท่าๆกัน โภชนาการแบบ low carb ฟื้นฟูการทำงานระบบ metabolic ดีกว่าการ high carb รึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-21-weight-loss-improves-b-cell-function-independently-of-dietary-carbohydrate-restriction-in-people-with-type-2-diabetes/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK