กินวันละสองมื้อ อาจเพิ่มไขมันตับอ่อนในคนเป็นเบาหวานได้ !?!

ในคนเป็นเบาหวาน การทานวันละ 2 มื้ออาจจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของไขมันในเนื้อตับอ่อนได้นะครับ ตามคำแนะนำที่เขาแนะนำไว้การแบ่งทาน 3 มื้อ จะให้ผลที่ดีกว่า


กินวันละสองมื้อ อาจเพิ่มไขมันตับอ่อนในคนเป็นเบาหวานได้ !?!

ท่ามกลางกระแสในบ้านเรา ว่าคนเป็นเบาหวานต้องทำ IF (จริงๆน่ากังวลเรื่อง hypoglycemia อยู่เด้อสู) ผมเห็นหัวข้องานนี้แล้วเหมือนกบที่โผล่ออกจากกะลาไปเห็นแสง อะไรวะเนี่ย กินสองมื้อมันไม่ดีกว่าตรงไหน

แล้วไหนจะที่ศาสดาเขาก็กรอกหูอยู่ตลอด บอกว่าให้อดเสียบ้างเพื่อสุขภาพที่ดี ไหนจะลูกศิษย์ลูกหาท่องที่ตามตำราเดียวกันหน้าใหม่ๆ โผล่มาแต่ละคนก็พูดซ้ำๆเรื่องเดียวกันอีก ยังไงซิยังไง

งานนี้เป็นการศึกษาของ Niki และคณะ (2022) [1] ในงานนี้เนี่ยบอกก่อนว่ามันเป็นการศึกษาแบบ Retrospective study ซึ่งเป็นการดูความสัมพันธ์ของความเสี่ยงนะครับ ดังนั้นการตีความ การแปลผล เพื่อนำไปประยุกต์ หรือนำไปอะไรก็ตาม มันก็ต้องเข้าใจในจุดนี้ด้วย เหมือนกับพวกงาน Cohort ต่างๆ เราต้องเข้าใจรูปแบบการศึกษาด้วยว่ามันบอกหรือไม่บอกอะไรเรา

Niki และคณะ (2022)

ในงานนี้เขาเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน (lifestyle) แบบไหน ที่จะส่งผลให้เกิดไขมันในเนื้อตับอ่อน (intrapancreatic fat) ในคนที่เป็นเบาหวานประเภท 2 ได้บ้าง เขาคิดว่ามันต้องมีสิ่งที่เป็นปัจจัย และเขาก็ศึกษาข้อมูลเพื่อหาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ว่าบ้าง

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาก็ไปศึกษาจากผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยโอซาก้า ในช่วงปี 2008 ถึง 2020 ที่มีการตรวจแสกนช่องท้อง ระหว่างเข้ารับการรักษา ก็ได้กลุ่มตัวอย่างมา 185 คน จากนั้นเขาก็ศึกษาดูว่า Lifestyle ของแต่ละคนเป็นยังไบ้าง โดยใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ ที่ทำโดยแพทย์และพยาบาล ข้อมูลอาหารตรวจสอบโดยนักกำหนดอาหาร

ตัวอย่างข้อมูลที่เขาเก็บ เช่น กินขนมวันละเท่าไหร่ ออกกำลังกายมั้ย สูบบุหรี่รึเปล่า ดื่มเหล้ามากน้อยขนาดไหน มีปัญหาเรื่องการนอนรึเปล่า ทำงานเป็นกะมั้ย ฯลฯ จากนั้นก็ตรวจสอบการสะสมของไขมันในตับอ่อน ด้วยการ CT Scan แล้วก็มีการเก็บข้อมูลข้อบ่งชี้ชีวภาพทางสุขภาพอื่นๆอีก พวกสัดส่วน รูปร่าง ค่าเลือดต่างๆ จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ผลที่พบคือ ?

ผลของ Life style ที่พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ ว่าส่งผลต่อการสะสมไขมันในเนื้อตับอ่อนคือจำนวนมื้ออาหารที่ทาน พบว่ากลุ่มที่ทานวันละ 2 มื้อ มีการสะสมของไขมันในตับอ่อนที่สูงกว่า ส่วนพวก Life style อื่นๆ ไม่พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนไขมันที่อยู่เกาะตับ ไขมันช่องท้องอะไรนี่ไม่พบความสัมพันธ์อะไรที่มีนัยสำคัญทางสถิตินะครับ

หลังจากที่ Adjust ข้อมูลต่างๆ ดูจากพวกการทำงานกะดึก หรือพวกค่าไขมันต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ก็ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่แตกต่างไปจากที่พบเหมือนกัน

อะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุ ?

สรุปว่าเขาพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ทานอาหารวันละ 2 มื้อนั้น มีการสะสมไขมันภายในเนื้อตับอ่อน ที่สูงกว่าคนที่ทานวันละ 3 มื้อ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนอะไรคือกลไกของผลนี้ เขามองว่าอาจจะเป็นเพราะคนที่ทาน 2 มื้อ อาจจะมีภาวะโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพน้อยกว่า แล้วก็พอทานน้อยมื้อ มันทำให้ทานแต่ละมื้อเป็นมื้อใหญ่

พอทานเป็นมื้อใหญ่โอกาสที่จะเจอ ไขมัน และน้ำตาล ในอาหารของแต่ละมื้อมากกว่าคนที่ทาน 3 มื้อ ซึ่งอาจจะทานแต่ละมื้อเป็นมื้อที่เล็กกว่า แล้วก็คนที่ทานสองมื้อก็มีการทำงานของเอนไซม์ Amylase ที่แตกต่างจากคนที่ทาน 3 มื้อด้วย อีกสิ่งที่พบก็คือไขมันในตับอ่อนเนี่ย ไม่สัมพันธ์กับความอ้วน (BMI) ด้วย

ประเด็นสำคัญที่พบในงานนี้

ข้อจำกัดของงาน

ทั้งนี้ย้ำอีกครั้งว่างานนี้ศึกษาแบบ Retrospective สิ่งที่ได้คือความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงนะครับ ไม่ได้บอกว่าเป็นสาเหตุ อีกจุดนึงข้อมูลที่ได้มาจากการตอบแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ และไม่ได้มีข้อมูลทางด้านโภชนาการที่ละเอียดมากแม่นยำมาก เมื่อเทียบกับวิธี Gold standard อื่นๆ

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เก็บ ก็กระทำโดย นักกำหนดอาหาร แพทย์ และพยาบาล ก็พอจะเป็นจุดแข็งให้ข้อมูลที่ได้มาเพิ่มได้บ้าง และการศึกษาครั้งนี้เขาไม่รวมเอาผู้ป่วยที่มีโรคอื่นๆร่วมด้วยเข้ามาศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ได้ข้อมูลจำเพาะในกลุ่มเบาหวาน

สรุป

สรุปของสรุป เขาก็พบว่าการทานวันละ 2 มื้อ มีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงในการเพิ่มขึ้นของไขมันในเนื้อตับอ่อนที่มากกว่าการทานวันละ 3 มื้อ ซึ่งก็สนับสนุนแนวทางคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในญี่ปุ่น [2] ที่บอกว่าไม่ควรข้ามมื้อ (Skipping meals) ซึ่งเคยมีการแนะนำไว้สำหรับผู้เป็นเบาหวานนะครับ

อ้างอิง

  1. Niki A, Baden MY, Kato S, et al. Consumption of two meals per day is associated with increased intrapancreatic fat deposition in patients with type 2 diabetes: a retrospective studyBMJ Open Diabetes Research and Care 2022;10:e002926. doi:  http://dx.doi.org/10.1136/bmjdrc-2022-002926
  2. Araki, E., Goto, A., Kondo, T., Noda, M., Noto, H., Origasa, H., Osawa, H., Taguchi, A., Tanizawa, Y., Tobe, K., & Yoshioka, N. (2020). Japanese clinical practice guideline for diabetes 2019. Journal of Diabetes Investigation, 11(4), 1020–1076. https://doi.org/10.1111/jdi.13306

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK