ไม่ได้ขยับตัวนานเท่าไหร่กล้ามเนื้อถึงจะลีบลง แล้วคนแข็งแรงๆ สุขภาพดีกับคนป่วย ส่งผลเหมือนกันมั้ย ?

การนอนพักรักษาตัว ส่งผลยังไงต่อขนาดของกล้ามเนื้อบ้าง ? กี่วันกล้ามเนื้อถึงจะลีบเล็กลง ?


ไม่ได้ขยับตัวนานเท่าไหร่กล้ามเนื้อถึงจะลีบลง แล้วคนแข็งแรงๆ สุขภาพดีกับคนป่วย ส่งผลเหมือนกันมั้ย ?

กล้ามเนื้อเราเวลาไม่ได้ถูกใช้งาน จากการไม่ได้ขยับ (Immoblization) จะเกิดภาวะที่เรียกว่า กล้ามเนื้อลีบเล็ก (Disuse muscle atrophy, DMA)  ซึ่งก็อาจจะพัฒนาต่อไปเป็น ภาวะกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) ต่อไปได้

งานนี้เป็นการศึกษาของ Hardy และคณะ (2022) [1] เขาก็ศึกษาเป็น Systematic Reveiw และ Meta-analysis เพื่อดูว่าถ้าไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อเนี่ย ระหว่างคนสุขภาพดี กับคนที่มีปัญหาสุขภาพ มีผลเหมือนหรือต่างกันยังไง แล้วก็ดูว่าระยะเวลามีผลยังไงบ้าง

โดยดูจากงานวิจัยที่ศึกษากล้ามเนื้อระยางค์ล่าง เป็นงานที่ทำในคน ดูงานที่มีการวัดผล muscle volume , cross-section area , lean leg mass หรือ โครงสร้างของกล้ามเนื้อ รายงานทั้ง baseline และช่วงต่างๆของการศึกษา อย่างน้อยสองช่วง

ดูผลในคนกลุ่มไหนบ้าง ?

ก็ได้ข้อมูลมาจากงาน 35 งานที่เข้าเกณฑ์ ก็มีทั้งข้อมูลจากคนป่วย แล้วก็คนสุขภาพดี ซึ่งคนสุขภาพดีนี่เขาก็เอามาทำตามพวก Bed rest protocol เพื่อจำลองการให้อยู่บนเตียงผู้ป่วยไม่ให้ขยับตัว หรือมีการจำกัดการเคลื่อนไหว  คนป่วยเนี่ยก็เป็นผู้ป่วยใน ITU (Intensive Therapy Unit) อ่ะนะครับ ซึ่งตรงนี้ในรายละเอียดมันก็เยอะอยู่ไปดูกันในงานเองนะครับ

ผลที่ได้คือ ?

พอเขาได้ข้อมูลมาจากงานต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เนี่ย มันก็มีภาพรวมๆ ให้เราพอจะเห็นได้อยู่ภาพนึง คือพบว่าในคนสุขภาพดีที่ต้องไปเจอสภาพแบบ Bed rest หรือขยับขาไม่ได้สักระยะเนี่ย กล้ามเนื้อก็จะค่อยๆเล็กลีบลง มันลดทั้งส่วนของ volume และ cross section area โดยในช่วง 15 วันแรกก็จะลดลงเยอะหน่อย จากนั้น ราววันที่ 15-60 อัตราลีบเล็ก ก็จะค่อยๆลดลง

ในคนป่วยช่วง 15 วันแรกอัตราลีบเล็กก็จะเยอะนะครับ โดยเฉพาะช่วง 10 วันแรก จากนั้นกราฟก็ค่อยๆ ความลาดชันน้อยลง ความลีบเล็กที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจะมีผลลดลงจนกว่าจะมีอะไรมาเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการเสียกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อเทียบระหว่างคนป่วยกับคนสุขภาพดี คนป่วยการลีบเล็กลงของกล้ามเนื้อจะเกิดผลเยอะกว่าในคนสุขภาพดี อาจจะมาจากการที่คนป่วยอาจจะมีเรื่องของโภชนาการที่ทานสิ่งต่างๆได้น้อยลง และผลจากภาวะอื่นๆ ที่เป็นอยู่มาเป็นตัวเร่งด้วยก็ได้นะครับ

ก่อนหน้านี้เคยนำเสนอไปงานนึง เป็นงานที่ทดสอบดูการทำงานของไมโตคอนเดีย ในกล้ามเนื้อ เมื่อเราต้อง Bed rest หรือพักรักษาตัวเป็นระยะเวลาสั้นๆ มีผลต่อไมโตคอนเดีย ไม่มากนัก ซึ่งในงานดังกล่าวศึกษาเป็นระยะเวลาแค่ 5 วัน แต่ถ้าต้องรักษาตัวนานกว่านั้น ก็จะเริ่มเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นแล้วนะครับ [2]

ซึ่งงานนั้นดูในเรื่องของกิจกรรมของไมโตคอนเดรีย อาจจะไม่เห็นผลต่างอะไรไวมาก แต่ในงานนี้ศึกษาเป็นเรื่องของพื้นที่และปริมาตรของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเห็นว่าแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ส่งผลค่อนข้างชัดเจน และในช่วงแรกนั้นส่งผลต่อกล้ามเนื้อเยอะกว่าด้วยนะครับ

สรุป

จากข้อมูลต่างๆ ถ้าในแง่ของการดูแลคนป่วยคนบาดเจ็บ เพื่อลดผลที่เกิดขึ้นเยอะในช่วงแรก พวกเทคนิคต่างๆ เช่น bed-based resistance , vibration exercise หรือพวกอุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า อาจจะมีประโยชน์ แต่ก็ต้องอยู่ในการดูแลของผู้ที่ทำการรักษา หรือรับผิดชอบอาการอยู่ด้วยนะครับ

อ้างอิง

  1. Hardy, E., Inns, T. B., Hatt, J., Doleman, B., Bass, J. J., Atherton, P. J., Lund, J. N., & Phillips, B. E. (2022). The time course of disuse muscle atrophy of the lower limb in health and disease. Journal of cachexia, sarcopenia and muscle, 10.1002/jcsm.13067. Advance online publication. https://doi.org/10.1002/jcsm.13067
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, July 8). ไม่สบายต้องนอนพัก หยุดออกกำลังกาย 5 วัน จะเป็นอะไรมั้ย. Fat Fighting. Retrieved September 18, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-05-no-effect-of-five-days-of-bed-rest-or-short-term-resistance-exercise-prehabilitation-on-markers-of-skeletal-muscle-mitochondrial-content-and-dynamics-in-older-adults/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK