ดูกันชัดๆ น้ำหนักเกิน อ้วน Metabolic syndrome กวักมือหยอยๆ กินแบบไหนดี Low carb หรือ Low fat อะไรดีกว่ากัน

ดูกันให้รู้เรื่อง จะๆ จากงานวิจัยทั้งหลายกันครับ ว่าโภชนาการแบบไหนให้ผลดีกว่ากัน ระหว่าง Low carb หรือแบบ Low fat


ดูกันชัดๆ น้ำหนักเกิน อ้วน Metabolic syndrome กวักมือหยอยๆ กินแบบไหนดี Low carb หรือ Low fat อะไรดีกว่ากัน

งานนี้เป็นการศึกษาแบบ Meta-analysis เพื่อดูผลของการทานโภชนาการสัดส่วนแบบ คาร์บต่ำ (Low carbohydrate) และ ไขมันต่ำ (Low fat) เปรียบเทียบกัน ว่าแบบไหนส่งผลยังไงต่อปัจจัยเสี่ยงต่อระบบ Metabolic บ้าง

สมัยก่อนมนุษย์เราขัดแย้งกันเพราะแย่งดินแดนกัน ในอีกยุคนึงก็ขัดแย้งกันเพราะเรื่องศาสนา ในยุคนึงขัดแย้งกันเพราะเรียนคนละสถาบัน ใส่เสื้อคนละสี หัวเข็มขัดคนละลาย ในยุคนึงก็ขัดแย้งกันเพราะความเชื่อทางการเมือง ในปัจจุบันเราขัดแย้งกันเพราะแดกกันคนละแบบ ฮิ้วววว

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพราะคนไทยนะครับ บอกได้เลยว่าเมืองนอกก็สาดกันยับ พวกคนไทยตัวที่เห็นๆเนี่ยก็ก๊อปโพสต์ ก๊อปข้อความจากฝรั่งตัวหัวๆ มาสาดกันต่อนั่นแหละ ในงานนี้เป็นการศึกษาของ Lei และคณะ (2022) [1] เขาก็เลยไปศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ดูให้ชัดๆเลยว่า กินแบบไหนมันส่งผลยังไง แบบไหนดีกว่า แบบไหนแย่กว่า

เขาก็ไปศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ในฐานข้อมูงานวิจัย ทั้ง PubMed, EMBASE และ Cochrane โดย การทานแบบโลว์คาร์บ (LCD) ในนิยามของงานวิจัยต่างๆ คือคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนไม่เกิน 40% ส่วนการทานแบบโลว์แฟต (LFD) สัดส่วนไขมันไม่เกิน 30% ของพลังงานทั้งหมด งานวิจัยต้องทำอย่างน้อย 6 เดือน ศึกษาในคนน้ำหนักเกิน อ้วน หรือมีภาวะ Metabolic syndrome

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เมื่อค้นข้อมูลเขาก็ได้งานวิจัยที่เข้าเกณฑ์อยู่ 33 งาน มีกลุ่มตัวอย่าง 3,939 คน เป็นการศึกษาทั้งจาก อเมริกาเหนือ , โอเซเนีย , เอเชีย และยุโรป มี 1,978 คนที่ทาน LCD และ 1,961 คนที่ทาน LFD อายุตั้งแต่ 18-72 ปี การศึกษานี่ก็มียาวตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี ในกลุ่ม LCD มี 14 งานที่ทานคาร์บต่ำมาก (VLCD) คือต่ำกว่า 50g ต่อวัน ว่าง่ายๆคือทานแบบ Keto นั่นเอง

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบก็คือ LCD นั้นให้ผลต่อการลดไตกลีเซอไรด์ (Triglycerides) , ความดันตัวล่าง (Diastolic) และน้ำหนักที่ดีกว่า (ดีกว่าในทีนี้ก็คือ 1.33 กิโลโดยเฉลี่ยนะครับ ไม่ใช่แบบต่างกัน 5 โล 10 โล) ค่าไตกลีฯ ก็ลดได้ดีกว่า 0.14mmol/L ความดันตัวล่างก็ลดได้ดีกว่า 0.87mmHg นะครับ เช่นกันไม่ได้ต่างกันมากแบบ 5 หรือ 10mmHg นอกจากลดแล้ว ทาน LCD ก็ให้ผลดีต่อการเพิ่ม HDL ด้วย ก็ดีกว่าราว 0.07mmol/L

ส่วนการทานแบบ LFD ลดคอเลสเตอรอล และ LDL ได้ดีกว่า แต่ที่ดีกว่าก็ลด Cholesterol ได้ดีกว่า 0.14mmol/L และ LDL นี่ 0.10mmol/L ในส่วนของน้ำหนักตัวนั้นในช่วงแรก ลดได้ดีกว่าแต่เมื่อติดตามผลที่ระยะเวลา 2 ปี ก็พบว่าไม่ต่างกัน เมื่อดูกลุ่มย่อย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หรือไขมัน ก็ให้ผลที่ไม่แตกต่างกัน

ซึ่งก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายนะครับ เพราะจริงๆแล้วในการศึกษาอีกหลายงาน ก็พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย อย่างเช่นการทาน Low carb เทียบกับ Balance diet ในคนเป็นเบาหวาน การลดน้ำหนักการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน [2]

ก่อนหน้านี้ก็เคยเขียนบทความเรื่อง Low carb กับ Low fat ว่าแบบไหนน้ำหนักดีกว่ากันไปแล้วนะครับ ผลจากที่ศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ณ ตอนนั้น (ปี 2020) ก็พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน [3] ไม่เฉพาะการลดน้ำหนักหรือเบาหวาน สำหรับภาวะไขมันพอกตับ Low carb หรือ Low fat แบบไหนดีกว่ากัน ผลจากการศึกษาแบบ Systematic Review ก็พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน หรือจะเปรียบเทียบเรื่องการฟื้นฟูการทำงานของตับ ว่า Low carb หรือ Low fat ฟื้นฟูความไวอินซูลิน ได้ดีกว่ากัน ผลก็เหมือนกันนะครับ ได้เหมือนๆกัน อยู่ที่ว่าลดน้ำหนักได้รึเปล่า [5] หรือจากงานวิจัยที่ศึกษาใกล้เคียงกัน ในก่อนหน้านี้ ก็พบว่าจะทานแบบ Low carb หรือ High carb ก็มีผลดีต่อน้ำหนัก ความดัน ผลเลือดได้ไม่แตกต่างกัน [6]

สรุป

โดยสรุป LCD และ LFD มีผลต่อปัจจัยเสี่ยง Metabolic แตกต่างกันดังผลข้างบน ลดน้ำหนักได้ดีกว่าในช่วง 6 เดือนแรก แต่เมื่อติดตามผลที่ระยะเวลา 2 ปี ทั้งน้ำหนักและปัจจัยเสี่ยงต่อ Metabolic ก็ทำได้ดีเหมือนๆกัน

จะทานแบบไหนก็ได้นะครับ เอาที่เราทานได้สะดวก และทำได้นานพอจนเห็นผล ปี 2022 แล้ว ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ที่พูดถึงข้างต้น ผมว่าเราควรเลิกยกหางกว่ากินแบบนี้สิดีกว่าอีกแบบนึงกันได้แล้ว มันได้ผลหรือไม่ได้ผลไม่แตกต่างกัน เหมือนที่ในอีกหลายๆงานพบนั่นแหละ แบบไหนคุณกินแล้ว ลดน้ำหนักได้ ลดไขมันส่วนเกินได้ สิ่งต่างๆมันก็ดีขึ้นแทบไม่ต่างกัน

อ้างอิง

  1. Lei, L., Huang, J., Zhang, L., Hong, Y., Hui, S., & Yang, J. (2022). Effects of low-carbohydrate diets versus low-fat diets on metabolic risk factors in overweight and obese adults: A meta-analysis of randomized controlled trials. Frontiers in nutrition, 9, 935234. https://doi.org/10.3389/fnut.2022.935234
  2. Naude, C. E., Brand, A., Schoonees, A., Nguyen, K. A., Chaplin, M., & Volmink, J. (2022). Low-carbohydrate versus balanced-carbohydrate diets for reducing weight and cardiovascular risk. The Cochrane database of systematic reviews, 1(1), CD013334. https://doi.org/10.1002/14651858.CD013334.pub2
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2020, September 22). Low carb หรือ low fat โภชนาการแบบไหนลดน้ำหนักได้ดีกว่ากัน. Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/articles-2020-09-22-low-carb-vs-low-fat-which-is-better/
  4. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 23). Low carb หรือ low fat กินแบบไหนถึงจะลดไขมันพอกตับได้ ? Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-22-low-fat-diet-versus-low-carbohydrate-diet-for-management-of-non-alcohol-fatty-liver-disease/
  5. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 21). ถ้าให้กินเท่าๆกัน โภชนาการแบบ low carb ฟื้นฟูการทำงานระบบ metabolic ดีกว่าการ high carb รึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved September 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-21-weight-loss-improves-b-cell-function-independently-of-dietary-carbohydrate-restriction-in-people-with-type-2-diabetes/
  6. Yang, Q., Lang, X., Li, W., & Liang, Y. (2022). The effects of low-fat, high-carbohydrate diets vs. low-carbohydrate, high-fat diets on weight, blood pressure, serum liquids and blood glucose: a systematic review and meta-analysis. European journal of clinical nutrition, 76(1), 16–27. https://doi.org/10.1038/s41430-021-00927-0

เคี้ยวหมากฝรั่งเพิ่มการเผาผลาญได้ 10-15% !! โอ้ววว จอร์จมันยอดมาก
Previous article

เคี้ยวหมากฝรั่งเพิ่มการเผาผลาญได้ 10-15% !! โอ้ววว จอร์จมันยอดมาก

พลังงานที่เราใช้ไปกับการเคี้ยวอาหาร มีค่าเท่าไหร่ ถ้ากินนาน ค่อยๆเคี้ยว จะใช้พลังงานมากขึ้นจริงมั้ย ? เอ๊ะ แล้วถ้าเพิ่มได้ แบบนี้เราเพิ่มการเผาผลาญด้วยการนั่งเคี้ยวพวกหมากฝรั่ง 0 cal ไปเรื่อยๆ ก็ดีต่อการเผาผลาญด้วยใช่มั้ย ?

Level of Evidence
Next article

Level of Evidence

บทความสำหรับสมาชิกนะครับ ใครยังไม่ได้สมัครสมาชิกกดสมัครสมาชิกได้ที่เมนูด้านบนเลยครับ ส่วนใครที่เป็นสมาชิกแล้วจะอ่านได้ในเว็บ หรือตามในอีเมล์ที่ส่งไปให้นะครับ


GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK