วันๆทำงานก็ไม่มีเวลาแล้ว ออกกำลังกายได้แค่เสาร์อาทิตย์ มันจะได้ผลอะไร ?

วันจันทร์ถึงศุกร์ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย มาออกกำลังกายได้ในช่วงเสาร์อาทิตย์ มันจะมีประโยชน์อะไรได้บ้างมั้ย ?


วันๆทำงานก็ไม่มีเวลาแล้ว ออกกำลังกายได้แค่เสาร์อาทิตย์ มันจะได้ผลอะไร ?

ประเด็นนี้ไม่ใช่มีแต่เราๆคนไทยเป็นกันนะครับ แม่งเป็นกันทั้งโลก จนมีคำเรียกพฤติกรรมของคนที่วันธรรมดาไม่ได้ออกกำลังกาย แล้วไปออกกำลังกายอย่างหนักในวันเสาร์อาทิตย์ ว่า Weekend Warrior

ซึ่งก่อนหน้านี้มีการกล่าวกันไว้ว่า พฤติกรรม Weekend Warrior นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ อันนี้มันมาจากงานวิจัยงานนึงในสมัยก่อนที่เขาศึกษาพบว่าคนกลุ่มนี้ มีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงเสียชีวิตที่มากกว่าคนออกกำลังกายประจำ แต่ถ้าเราอ่านงานพวกนี้บ่อยๆจะเข้าใจนะครับ ว่ามันคือความสัมพันธ์ ไม่ใช่สาเหตุ

อย่างไรก็ตามจะบอกว่างานที่เป็นความสัมพันธ์ไม่น่าให้น้ำหนักอะไร ก็คงจะไม่ใช่ มันก็มีประโยชน์ของมันอยู่ แต่เราต้องตีความอย่างเข้าใจ อ่ะ เข้าเรื่องดีกว่า งานนี้เป็นการศึกษาของ Santos และคณะ (2022) [1] ก็เป็นงานที่ศึกษา ความสัมพันธ์ของพฤติกรรมดังกล่าว รวมถึงคนที่ทำกิจกรรมในเวลาว่างรูปแบบอื่นๆ ว่ามีประโยชน์อะไรมั้ย กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

Santos และคณะ (2022)

เขาศึกษายังไง ?

ก็เป็นการศึกษาจาก ฐานข้อมูลการสำรวจสุขภาพของสหรัฐ (US National Health Interview Survey) ซึ่งเขาก็สำรวจเก็บข้อมูลระหว่างปี 1997-2013 ซึ่งก็มีข้อมูลหลายอย่างในฐานข้อมูลดังกล่าว ทีนี้ผู้วิจัยเขาก็นำมากรองข้อมูลที่ต้องการออกมา แยกเอาข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตจาก มะเร็ง,หลอดลมอักเสบเรื้อรัง, โรคหัวใจและสโตรก ตั้งแต่ต้น และข้อมูลที่ไม่มีระบุเรื่องของ Physical Activity หรือคนที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ตามเกณฑ์ออกไป

หลังจากนั้นเขาก็แยกและวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนของ Physical Activty ออกมาเป็นกลุ่มต่างๆ แล้วก็แยกข้อมูลการเสียชีวิตออกมาจัดกลุ่ม จัดตัวแปรร่วมต่างๆ อีกสารพัดนะครับ รายละเอียดวิธีคิดไปดูในงานกันต่อได้เลย  แล้วก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้คือ อันดับแรกข้อมูลกลุ่มประชากรทั้งหมด มีจำนวน 350,978 คน อายุเฉลี่ย 41.2 ปี  ค่าเฉลี่ยการติดตามข้อมูลอยู่ที่ 10.4 ปี และถ้าเทียบความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงของการเสียชีวิต ไม่ว่าจะจากโรคหัวใจ มะเร็ง หรืออื่นๆ ระหว่างคนที่ Inactive เลย กับคนที่ออกกำลังกายประจำ และกลุ่ม Weekend Warrior ก็พบว่า ความเสี่ยงนั้นลดลงทั้งสองกลุ่ม เมื่อเทียบกับคนที่ Inactive

ภาพรวม จะเห็นว่าออกดีกว่าไม่ออกนะครับ (ตัวเลขความเสี่ยงน้อยกว่า 1)

ถ้าดูเฉพาะคนที่ Inactive เทียบกับคนที่ออกกำลังกายประจำ การออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ทั้งนั้น และดูเหมือนว่ายิ่งออกกำลังกายนานกว่าความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงดังกล่าวก็ยิ่งลดลง

เทียบระหว่างคนออกกำลังกายประจำ กับกลุ่ม Inactive

ถ้าดูเทียบ Inactive กับ Weekend Warrior ความถี่ต่อสัปดาห์ ระหว่าง 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วออกดีกว่าไม่ออก

เทียบระหว่าง Weekend Warrior กับ Inactive

มีข้อมูลตรงส่วนของ Weekend Warrior ที่ออกกำลังกาย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่า Inactive และถ้าดู Intensity พบว่ามีความเสี่ยงที่สูงในกลุ่มที่ออกกำลังกายหนัก ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า Inactive ที่น่าสนใจ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า มีการออกกำลังกายหนัก เกินไปก็ได้ แต่ตรงนี้ก็ไม่ได้มีอะไรอธิบายไว้นะครับ ก็เป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

สรุป

ถ้าเทียบกันเฉพาะออกประจำ กับ Weekend Warrior นั้นออกประจำจะได้ผลที่ดีกว่า โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าออกได้แค่เสาร์อาทิตย์ ก็ยังดูดีกว่าไม่ได้ออกเลย แต่ถ้าออกได้ประจำสม่ำเสมอในวันอื่นๆด้วย ก็จะได้ผลที่ดีกว่า

อ้างอิง

  1. Dos Santos, M., Ferrari, G., Lee, D. H., Rey-López, J. P., Aune, D., Liao, B., Huang, W., Nie, J., Wang, Y., Giovannucci, E., & Rezende, L. (2022). Association of the "Weekend Warrior" and Other Leisure-time Physical Activity Patterns With All-Cause and Cause-Specific Mortality: A Nationwide Cohort Study. JAMA internal medicine, 182(8), 840–848. https://doi.org/10.1001/jamainternmed.2022.2488

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK