ฟรุกโตส เป็นอันตรายเสี่ยงต่อไขมันพอกตับเมื่อทานแบบนี้

น้ำตาลฟรุกโตส ทำให้เป็นโรคไขมันพอกตับจริงรึเปล่า ? ทานสักนิดก็ไม่ได้เลยเหรอ ?


ฟรุกโตส เป็นอันตรายเสี่ยงต่อไขมันพอกตับเมื่อทานแบบนี้

การทานน้ำตาล มีส่วนทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ (non-alcoholic fatty
liver disease , NAFLD) ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นตับแข็งได้ ซึ่งกลไก Metabolism ของฟรุกโตส นั้นก็อาจจะนำไปสู่การเกิดไขมันที่สะสมบริเวณตับได้ พวกนี้คือพื้นฐานอ่ะนะครับ ปกติเขาก็แนะนำให้ลดการบริโภคน้ำตาลกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งอันนั้นโอเคเข้าใจได้

Photo by Olga Kononenko / Unsplash

แต่ปัจจุบันข้อมูลสุขภาพจำนวนมาก บอกเราว่าน้ำตาลฟรุกโตสนั้นอันตรายต่อสุขภาพ กินเข้าไปแล้วทำให้เกิดไขมันพอกตับแน่นอน หลายคนฟังข้อมูลแบบนี้ผลิตซ้ำวนไปวนมา ไปช่องไหนก็พูดแบบนี้ (ไม่แปลกก็เขาคัดลอก/ท่องจำมาจากต้นทางที่เดียวกัน ๕๕)

เรียกว่าฟังจนมองฟรุกโตสเป็นยาพิษ บางคนก้าวไปถึงขั้นมองแม้แต่ผลไม้ก็เป็นอันตราย จริงๆแล้วมันเป็นยังไงกันแน่ มาดูข้อมูลจากงานวิจัยกันให้กระจ่างกันไปเลยดีกว่าครับ

จริงๆแล้วเป็นยังไงกันแน่ ?

งานนี้เป็นการศึกษาของ Lee และคณะ (2022) [1] เป็นการศึกษาแบบ Systematic Review และ Meta-Analysis ที่ศึกษามาจากงานวิจัยที่เป็น Controlled trials ซึ่งเป็นการวิจัยแบบมีกลุ่มควบคุมมาเปรียบเทียบชัดเจน โดยเกณฑ์ของงานที่เลือกมาศึกษาคร่าวๆ คือเป็นการศึกษาในมนุษย์นะครับ พวกงานในหนู ในสัตว์ทดลอง หรือการดูผลในหลอดทดลองต่างๆ อันนั้นไม่นำมาวิเคราะห์

Lee และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ศึกษายังไงบ้าง ?

เป็นกลุ่มคนอายุเท่าไหร่ก็ได้ สภาวะสุขภาพยังไงก็ได้ทั้งป่วย และสุขภาพดี งานวิจัยต้องทำนาน 7 วันขึ้นไป แล้วก็ ศึกษาการน้ำตาล หรืออาหารที่มีฟรุกโตสในรูปแบบต่างๆ เปรียบเทียบกับการไม่ทานฟรุกโตสเลย หรือทานน้อยกว่า 5 กรัม และดูผลในข้อบ่งชี้ที่เกี่ยวกับ NAFLD อย่างน้อยหนึ่งอย่าง IHCL (ไขมันในเซลล์ตับ), ALT หรือ AST

พวกงานที่เป็น Meal replacement รูปแบบอาหารเหลว หรือพวกมีฟรุกโตสแต่อยู่ในรูปของ Rare sugar (พวกน้ำตาลที่ใช้เป็นสารทดแทนความหวาน) อย่างเช่น isomaltulose, melezitose หรือ turanose หรือพวกน้ำตาลที่แคลลอรี่ต่ำ allulose , tagatose , sorbose พวกนี้เขาไม่นำมารวมศึกษานะครับ

จุดที่น่าสนใจ

และความแจ่มของงานนี้อยู่ตรงนี้ครับ คือเขาศึกษาถึงรูปแบบของการ "ควบคุมพลังงานอาหาร" ด้วยว่าเป็นแบบ 1. ทดแทน (substitution) คือรับพลังงานจากฟรุกโตส เข้าไปแทนพลังงานจากสารอาหารอื่น ว่าง่ายๆคือกินแคลอรี่เท่ากัน 2. เพิ่ม (addition) อันนี้คือให้กินฟรุกโตสเพิ่มเข้าไป แปลง่ายๆคือ กินพลังงานเพิ่มขึ้น และเพิ่มจากฟรุกโตส 3. ลด (subtraction) อันนี้เปลี่ยนฟรุกโตสไปดื่มน้ำหรือสายทดแทนความหวาน ทำให้ได้รับพลังงานลดลง และ 4. กินตามใจ (ad libitum)

พอมันมีรูปแบบทั้ง 4 อย่างเข้ามา ก็จะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ ว่ากินฟรุกโตสภายใต้สภาวะแบบไหน ให้ผลยังไงบ้าง ซึ่งหลังจากที่เขาค้นข้อมูลงานวิจัย จากงานทั้งหมด 4616 งาน ก็มีงานที่เข้าเกณฑ์และนำมาศึกษา 75 งาน ได้กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 2059 คน

ผลที่พบคือ ?

ผลที่พบก็คือ ถ้าดูในการทานที่ "เพิ่ม" โดยเป็นการทานเพิ่มในรูปของเครื่องดื่มที่มีรสหวาน อันนี้ส่งผลเสีย มีผลต่อไขมันตับ แล้วก็ค่า ALT แต่ถ้าเป็นการทาน "ทดแทน" ด้วยพลังงานที่เท่ากัน กินน้ำตาลไป ก็ลดพลังงานจากสารอาหารอื่น ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นนัยยะสำคัญ ส่วนค่า AST ไม่มีผลทั้งสองรูปแบบ

ส่วนการทานที่ "ลด" ไม่ทานฟรุกโตส ก็มีไขมันในตับลดลง แต่ต้องโน้ตไว้หน่อยว่านอกจากลดฟรุกโตสแล้ว มันเป็นการทานที่พลังงานติดลบด้วย (Campos et al. 2015, Porikos et al. 1983)

สองงานนี้สมดุลย์พลังงาน (ทางขวา) เป็น Negative

ถ้าไปดูในรายละเอียดของแต่ละงานที่นำมาศึกษา จะมีงานอีกกลุ่มนึงคือการทานฟรุกโตสด้วย แต่พลังงานเป็นแบบ Negative energy balance (Eslami et al. 2019, Ribeiro et al. 2017, Kaliora et al. 2016) แต่สามงานนี้ไม่ได้ดูผลลัพธ์ในเรื่องของ IHCL ไว้ ไม่อาจบอกได้เรื่องไขมันในตับ

พวกนี้เป็นการทานฟรุกโตส ในภาวะพลังงานติดลบ แต่ไม่ได้ศึกษาผลในแง่ของไขมันในตับ

สรุป

โดยสรุปแบบเข้าใจง่าย ก็คือถ้าทานฟรุกโตส เพิ่มจากการทานปกติ หรือทานแล้วเกิดพลังงานเกิน (Calories surplus , Excess energy แล้วแต่จะเรียก) ด้วย อันนี้มีผลเสียแน่ละ แต่ถ้าทานในพลังงานที่เท่าๆกันกับสารอาหารอื่น หรือไม่ทานไปเลย มีผลแตกต่างกันไป ตามรูปแบบของแหล่งอาหารที่ทาน สภาวะพลังงานอาหารโดยรวม

ก่อนหน้านี้ เคยนำเสนอบทความไปครั้งนึงแล้วเรื่อง น้ำตาลฟรุกโตส น่ากลัวมากแค่ไหน ? ซึ่งก็ได้ทำการศึกษาข้อมูล จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่าถ้าเราไม่ได้ทานในภาวะพลังงานเกิน ก็ไม่ได้มีอะไรน่ากังวล [2] แต่ถ้าทานพลังงานเกิน ได้รับสารอาหารเกินจากที่ร่างกายต้องการนำไปใช้แล้ว ยังไงก็มีปัญหาได้ทั้งนั้นนะครับ

ในขณะที่ถ้าเราเป็นคนที่ออกกำลังกาย เล่นหรือแข่งกีฬาเป็นประจำ การเข้าใจกลไกของฟรุกโตส ก็สามารถทานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำกิจกรรม หรือการแข่งขันได้นะครับ [3]

อ้างอิง

  1. Lee, D., Chiavaroli, L., Ayoub-Charette, S., Khan, T. A., Zurbau, A., Au-Yeung, F., Cheung, A., Liu, Q., Qi, X., Ahmed, A., Choo, V. L., Blanco Mejia, S., Malik, V. S., El-Sohemy, A., de Souza, R. J., Wolever, T., Leiter, L. A., Kendall, C., Jenkins, D., & Sievenpiper, J. L. (2022). Important Food Sources of Fructose-Containing Sugars and Non-Alcoholic Fatty Liver Disease: A Systematic Review and Meta-Analysis of Controlled Trials. Nutrients, 14(14), 2846. https://doi.org/10.3390/nu14142846
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, January 27). น้ำตาลฟรุกโตส น่ากลัวมากแค่ไหน ? Fat Fighting. Retrieved September 8, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-01-27-fructose-dose-it-really-bad/
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, September 1). ฟรุกโตสมื้อเช้า ก่อนแข่ง ก่อนออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มแรงในการทำกิจกรรมได้. Fat Fighting. Retrieved September 8, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-30-addition-of-fructose-to-a-carbohydrate-rich-breakfast-improves-cycling-endurance-capacity/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK