คุมอาหารอย่างเดียว หรือคุมอาหารแล้วเล่นกล้ามท้องไปด้วย แบบไหนลดเอว ลดพุงได้ดีกว่ากัน ?

ถ้าคุมอาหารแล้วเล่นหน้าท้องจะช่วยลดไขมันหน้าท้อง รอบเอว หรือลดพุงได้ดีกว่าการคุมอาหารอย่างเดียวมั้ย


คุมอาหารอย่างเดียว หรือคุมอาหารแล้วเล่นกล้ามท้องไปด้วย แบบไหนลดเอว ลดพุงได้ดีกว่ากัน ?

เป็นอีกหนึ่งคำถามคลาสสิคตลอดกาลของวงการลดความอ้วน บ้างก็ว่าออกกำลังกายมันแค่ 20% โภชนาการ 80% บ้างก็ว่าทำควบคู่กันไปดีกว่า บ้างก็ว่าไม่ต้องออกกำลังกายคุมอาหารอย่างเดียวก็ได้ แล้วแบบไหนมันได้ผลดีกว่ากัน

งานนี้เป็นการศึกษาของ Kordi และคณะ (2015) [1] เขาก็สงสัยเหมือนที่เราสงสัยแหละครับ โดยเฉพาะเรื่อง "ลดเฉพาะส่วน" หรือ Spot reduction ว่าการเล่นกล้ามท้องมันได้ผลอะไรเป็นพิเศษรึเปล่า เขาก็เลยทำการศึกษาแบบ Randomize Controlled Trial ออกมาเสียเลย

ศึกษาในใคร ?

กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้หญิงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน โดยเกณฑ์ BMI มากกว่า 25 แล้วก็ไม่มีประวัติการออกกำลังกายในช่วง 180 วัน หรือประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา สุขภาพดี ไม่ท้อง ไม่สูบบุหรี่ และที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาครึ่งปี ไม่ได้มีการลดน้ำหนักมาก่อนในช่วงดังกล่าว

ศึกษายังไง ?

ก็ได้ผู้ร่วมทดลองมา 40 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่คุมอาหารอย่างเดียว (DIET) และกลุ่มที่คุมอาหารด้วยเล่นกล้ามท้องด้วย (DIET+EXE) กลุ่มละ 20 คน การคุมอาหารเขาใช้สูตร Harris-Benedict มาคำนวณ BMR และคิด TDEE จาก Physical Activity ตามระเบียบ โดยให้ทานพลังงานติดลบ (Calories deficit) 10kcal/น้ำหนักตัว ทำระยะเวลาทั้งสิ้น 12 สัปดาห์ หรือราวๆ 3 เดือน ก็ไม่นานเท่าไหร่

สัดส่วนสารอาหาร คาร์บ 55-65% ไขมัน 20-35% และโปรตีน 12-20% ส่วนการออกกำลังกายนั้น เป็นการออกกำลังกายแบบให้ทำเองที่บ้าน ฝึกสัปดาห์ละ 3 วัน ท่าฝึกที่ให้ทำก็มี abdominal crunch, right/ left oblique crunch, abdominal drawing-in, และ abdominal bracing. ท่าละ 2 set ๆ ละ 8 ครั้ง พักระหว่าง set 2 นาที

ผลหลักๆที่เขาดูนะเขาก็ดูที่ความหนาของชั้นไขมันใต้ผิวหน้าบริเวณหน้าท้อง โดยใช้เทคนิค Ultrasonography หรืออัลตราซาวนด์นั่นแหละครับ  เพื่อดูซ่าความหนาของชั้นไขมันตำแหน่งดังกล่าวเป็นเท่าไหร่ แล้วก็มีชั่งน้ำหนัก ใช้ BIA ดู percent body fat วัด skin fold ด้วย caliper ที่หนีบๆ แต่ตัวหลักๆคือดูจากอัลตราซาวนด์

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้อย่างแรกสุดท้ายจาก 40 คนบางคนก็ออกไปก่อน สุดท้ายเหลือกลุ่ม คุมอาหารอย่างเดียว 16 คน กลุ่มคุมอาหารและเล่นกล้ามท้อง 14 คน ทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักได้ใกล้เคียงกัน คุมอาหารอย่างเดียวลดได้เฉลี่ย 2.1kg ออกกำลังกายด้วย ลดได้เฉลี่ย 2.7kg ถ้าดู %fat คุมอาหารอย่างเดียวลดได้เฉลี่ย 1.7 ออกกำลังกายด้วยลดได้เฉลี่ย 2.2

ผลที่ได้หลักๆของทั้งสองกลุ่ม

ไขมันหน้าท้องถ้าดูด้วยอัลตราซาวนด์ คุมอาหารอย่างเดียวลดได้ 2.7mm ถ้าเล่นท้องด้วยลดได้ 3.7mm  แต่ถ้าดู skinfold นี่คุมอาหารอย่างเดียวลดได้ 3.1mm ถ้าเล่นท้องด้วยคุมอาหารด้วยลดได้ 5.1mm อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่แตกต่างกันนี้ ถ้ามองในแง่สถิติ ยังไม่มีความชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเท่าไหร่

ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย แต่ถ้าดูจากค่าเฉลี่ยความแตกต่างระหว่างตอนเริ่มกับหลังผ่านไป 12 สัปดาห์ กลุ่มที่คุมอาหารและออกกำลังกายด้วย (เน้นท่าเล่นท้องและช่วงลำตัว) ดูจะลดได้เยอะกว่า ทางนึงก็อาจจะไม่แปลกนะ เพราะว่าทั้งสองกลุ่มคุมอาหารเท่ากัน อีกกลุ่มนึงออกกำลังกายด้วย ดังนั้น Cal deficit ไม่เท่ากันแน่นอน

อีกส่วนก็อาจจะเป็นไปได้ว่าในแต่ละกลุ่ม มีทั้งคนที่ไขมันลดในบริเวณหน้าท้องมาก และไขมันบริเวณหน้าท้องไม่ค่อยลดแต่ไปลดบริเวณอื่นแทน อย่างไรก็ตามในงานนี้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของ Fat distribution ไว้ ซึ่งเรื่องของยีนอาจจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่า แต่ละคนจะมีรูปแบบการกระจายการสะสมของไขมันที่แตกต่างกันออกไป [2]

สรุป

สรุปในระยะเวลาสั้นๆ 12 สัปดาห์ ลดได้ทั้งสองวิธี ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่ถ้าดูค่าเฉลี่ย ดูเหมือนว่าคุมอาหารด้วย เล่นท้องด้วย จะลดได้เยอะกว่า ถ้ามีอีกกลุ่มนึง เป็นกลุ่มคุมอาหารเท่ากัน แล้วให้ไปเล่น Squat , dead lift , benchpress อะไรงี้มาประกบเพิ่มนี่ผลที่ออกมาน่าจะน่าสนใจขึ้น

ทั้งนี้ถ้าเราทำเองแล้วมันได้ผลคุมอาหาร+ออกกำลังกายลดได้เยอะกว่า ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะตารางฝึกของเขาในนี้ ค่อนข้างจุ๋มจิ๋มนะ ปกติเวลาเห็นคนออกกำลังกายเอง ยิ่งพวกคนจริงจังนี่โอ้โห เท่าที่เห็นๆ เราจะออกกันเยอะกว่าที่เขาให้ออกข้างบนนี้เยอะมากครับ สิ่งที่ทำให้ลดได้เยอะกว่า ส่วนนึงคงมาจากการใช้พลังงานมากกว่าด้วยนี่แหละ

สุดท้ายเลย ถึงจะดูต่างกันไม่มาก แต่การออกกำลังกาย มันจะมีผลในแง่ของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและรูปร่างที่แตกต่างไปจากการคุมอาหารอย่างเดียวด้วย ถ้าสะดวกก็เชียร์การทำควบคู่กันไปมากกว่าครับ ^^

อ้างอิง

  1. Kordi, R., Dehghani, S., Noormohammadpour, P., Rostami, M., & Mansournia, M. A. (2015). Effect of abdominal resistance exercise on abdominal subcutaneous fat of obese women: a randomized controlled trial using ultrasound imaging assessments. Journal of manipulative and physiological therapeutics, 38(3), 203–209. https://doi.org/10.1016/j.jmpt.2014.12.004
  2. Saini, S., Kaur Walia, G., Pal Sachdeva, M., & Gupta, V. (2021). Genomics of body fat distribution. Journal of genetics, 100, 32.

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK