นี่อาจจะคำอธิบายนึงว่าทำไมทำงานเป็นกะ นอนไม่เป็นเวลา แล้วมีอาการบวมน้ำเกิดขึ้นได้ง่าย ?

การนอนน้อย การทำงานเป็นกะ ที่ส่งผลกับนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) มีผลกับความดันโลหิต และการบวมน้ำยังไงบ้าง ?


นี่อาจจะคำอธิบายนึงว่าทำไมทำงานเป็นกะ นอนไม่เป็นเวลา แล้วมีอาการบวมน้ำเกิดขึ้นได้ง่าย ?

งานนี้เป็นการศึกษาของ McMullan และคณะ (2022) [1] ว่าด้วยการจำกัดเวลานอนต่อเนื่อง (Chronic Sleep Restriction, CSR) ว่าส่งผลยังไงกับความดันโลหิต , การคั่งของโซเดียม (Sodium retention) และการหลั่งฮอร์โมน Aldosterone บ้าง

นอกจากดูเรื่องการนอนที่จำกัดเวลาแล้วเนี่ย เขาดูไปถึงเรื่องของ Recurrent circadian disruption ว่าง่ายๆคือการที่นาฬิกาชีวภาพของเราคลาดเคลื่อนถูกรบกวนอย่างต่อเนื่อง ว่าง่ายๆกว่าอีกก็คือพวกคนที่ทำงานเป็นกะ ที่ต้องสลับทำงานเช้าบ้าง บ่ายบ้าง ดึกบ้าง หรือ Shift worker นั่นเอง

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาก็นำเอาคนสุขภาพดีๆนี่แหละครับ มาทดลอง ได้คนมา 17 คน (งานวิจัยแบบนี้ 17 คนนี่ก็ไม่น้อยนา) ทำการทดลอง 32 วัน โดยจับเอามาอยู่ในที่ทำวิจัยของเขา (งานพวกนี้ชอบจับคนไปขัง ๕๕) แล้วก็ให้ใช้ชีวิตวันละ 20 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ ให้เวลานอนกับเวลาตื่นสัดส่วน 1:3.3 (CSR group) และกลุ่มที่นอนต่อตื่น 1:2 (Control)

ศึกษายังไง ?

อาหารการกินเนี่ยเขาก็มีให้นะครับ โดยคำนวณอาหารที่จะกินจากสูตร Harris-Benedict มื้อเช้าให้กินหลังจากตื่น 1:25 ชั่วโมง เที่ยงก็ 5:30 ชั่วโมง และเย็น 9:30 ชั่วโมงหลังตื่น สัดส่วนอาหารทั่วไป คาร์บ 45-50% ไขมัน 30-35% และโปรตีน 15-20% คุมโซเดียมและโพแทสเซียม และให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 2.5 ลิตรต่อวัน (อย่าลืมว่าวันนึงของเขาคือ 20 ชั่วโมง ตาม FD protocol)

ว่าง่ายๆ (หลายง่ายละ๕๕) ก็คือเขาเอาคนมาทำให้นอนน้อยและทำให้นาฬิกาชีวภาพรวน โดยมันจะได้ออกมาเป็นว่าในแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่ม CSR ที่นอนน้อย และกลุ่มควบคุม จะได้ผลทั้งช่วงที่นาฬิกาชีวภาพมันตรง (Aligned) และคลาดเคลื่อน (Misaligned) เขามีรายละเอียดอธิบายเรื่องตรงไม่ตรงในงานนะครับ ใครสนใจไปอ่านได้

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อวัดผลสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งก็คือพวกผลที่เกี่ยวกับความดันโลหิต , อัตราการเต้นหัวใจ , โซเดียม และโพแทสเซียม ในปัสสาวะ และการหลั่งฮอร์โมน Aldosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลย์ของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในเลือด ในแต่ละเงื่อนไข

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบก็คือ จากคนที่สุขภาพแข็งแรงปกติทั่วๆไป ถ้านาฬิกาชีวภาพคลาดเคลื่อน ความดันจะสูงขึ้นประมาณ 6% เมื่อนอนน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่ม Control และนาฬิกาชีวภาพที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้การขับโซเดียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และโพแทสเซียมขับลดลง โดยไม่ขึ้นกับฮอร์โมน Aldosterone

ความดันจะสูงขึ้นเมื่อนาฬิกาชีวภาพคลาดเคลื่อน และนอนน้อยนะครับ
โซเดียมที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อนาฬิกาชีวภาพคลาดเคลื่อน
โซเดียมถูกขับออกมาเพิ่มขึ้น แปลว่าตอนที่ยังไม่ได้ปัสสาวะก็จะมีโซเดียมคั่งอยู่เยอะ และโพสแทสเซียมพร่อง

ทีนี้พอกลุ่มตัวอย่างที่นาฬิกาชีวภาพคลาดเคลื่อน ทานโซเดียมและโพแทสเซียมเท่าเดิม (เพราะเขากำหนดไว้) แต่พบว่ามีการขับโซเดียมและโพแทสเซียมทางปัสสาวะเปลี่ยนไป ก็แปลว่าในช่วงที่ไม่ได้ขับถ่ายออกมา ในร่างกายก็จะเกิดโซเดียมคั่ง และพร่องโพแทสเซียม ซึ่งตรงนี้ก็ส่งผลกับความดันโลหิต และอาการบวมน้ำ (Water retention)

สรุป

ในทางปฎิบัติของเรา สำหรับผมนะก็คิดว่าย้อนกลับไปที่ฟีดแบคของเรา ถ้าเรามีความดันสูง ก็ย้อนกลับไปดูปัจจัยต่างๆว่าอาจจะมีอะไรเกี่ยวบ้าง และเรื่องของเวลานอนเวลาตื่นที่เปลี่ยนไป ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุนึง ถ้ามันเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ได้ ก็ต้องไปปรับด้านอื่นชดเชยกันช่วยไป

ผมลองนึกภาพนะว่า เวลางานที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เรามีโซเดียมคั่งเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกว่า ความนัวความแซ่บมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรขาด เราก็จัดชาบู จัดตำปูปลาร้า จัดเมี่ยงปลาเผา(เค็มนะเว้ยจะบอกให้ ๕๕๕) กันเป็นประจำ ออกพอเวลามันรวน ก็มักจะส่งผลกิจกรรมอื่นอีก อาจจะพ่วงด้วยกำลังกายก็ไม่ค่อยได้ออก แล้วพอตรวจสุขภาพแล้วความดันมันก็สูงๆ แต่ไม่คิดจะปรับจะเปลี่ยนอะไร เดี๋ยวพี่ความดันคงจะกวักมือชวนเพื่อนๆโรคอื่นตามมาอ่ะ

อ้างอิง

  1. McMullan CJ, McHill AW, Hull JT, Wang W, Forman JP and Klerman EB (2022) Sleep Restriction and Recurrent Circadian Disruption Differentially Affects Blood Pressure, Sodium Retention, and Aldosterone Secretion. Front. Physiol. 13:914497. doi: https://doi.org/10.3389/fphys.2022.914497

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK