ในขณะที่เราถกกันว่าผู้สูงอายุควรยกเวทมั้ย โลกหมุนไปถึงจุดที่เทียบระหว่างฝึก Strength หรือ Power แล้ว

ในขณะที่หลายคนยังมีความคิดอยู่ว่า ผู้สูงอายุไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ งานวิจัยชิ้นนี้ก้าวข้ามข้อถกเถียงนั้นไปเรียบร้อยแล้ว เขาเปรียบเทียบการฝึกแบบ Power และ Strength ว่าแบบไหนส่งผลดีกต่อผู้สูงอายุมากกว่ากัน


ในขณะที่เราถกกันว่าผู้สูงอายุควรยกเวทมั้ย โลกหมุนไปถึงจุดที่เทียบระหว่างฝึก Strength หรือ Power แล้ว

เกริ่นก่อนว่ายังไงก็ตามเวลาฝึกน่ะ เขาดูตามความ "ไหว" ของผู้ฝึกนะครับ เพียงแค่ว่ารูปแบบการฝึกมันเป็นแบบไหนเท่านั้น มันไม่ใช่ว่าจับคนแก่ไปยก  Benchpress 200 โล 300 โล ไม่ดูสี่ดูแปด 55

สำหรับงานนี้เป็นการศึกษาของ Hadouchi และคณะ (2022) [1] แบบ Systematic review และ meta-analysis โดยเขาสนใจเกี่ยวกับการฝึกกล้ามเนื้อในกลุ่มผู้สูงอายุ ว่าการฝึกแบบไหนจะได้ผลยังไงมากน้อยกว่ากันระหว่าง Power training และ Strength training โดยผลลัพทธ์ที่สนใจ คือพลังของกล้ามเนื้อ ประสิทธิภาพในการทดสอบรูปแบบต่างๆ และ Physical activity ที่ตามมาในชีวิตประจำวัน

Hadouchi และคณะ (2022)d

อะไรคือการฝึก Power ?

ก่อนจะไปที่งานนี้ อาจจะมีคนที่สงสัยว่าแล้วอะไรคือการฝึก Power นิยามของมันคือเป็นการฝึกที่นอกจากจะมีเรื่องของความเข้มข้น (Intensity) แล้ว ยังมีเรื่องของความเร็วในการทำให้เกิดการเคลื่อนที่ หรือมีการพัฒนา rate of force [2] ถ้าดูตามกราฟความสัมพันธ์นี้ น่าจะเห็นภาพขึ้นนะครับ การฝึกรูปแบบต่างๆ มีความสัมพันธ์ของ แรง และความเร็วดังรูป [3]

ความสัมพันธ์ระหว่างแรง และความเร็ว ในการฝึกชนิดต่างๆ

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาก็ศึกษาจากงานที่เป็น RCT โดยไปค้นจากฐานข้อมูลงานวิจัยหลายๆแหล่ง ได้งานที่เข้าข่ายอยู่ในเงื่อนไขที่นำมาศึกษา 16 งาน เงื่อนไขก็เช่น อายุ >65 ปี ขึ้นไป สุขภาพดีปกติ เป็นการฝึก Power (ตามนิยามอ่ะนะ) มีกลุ่มควบคุมที่ฝึก Strength หรือไม่ได้ฝึก  แล้วก็ดูผลลัพธ์อย่างที่บอก

ก็รวมข้อมูลมาได้กลุ่มตัวอย่างเทียบระหว่าง Power กับ Strength 583 คน ฝึก Power 277 คน (47.5%) และกลุ่มที่ฝึก Power กับไม่ได้ฝึก 272 คน ซึ่งฝึก Power 134 คน (49.3%)

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้เนี่ยก็คือการฝึก Power มันเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ (Muscle Power) ได้ดีกว่า (เฮ้ย มันแน่อยู่แล้วมั้ยยยยย ก็มันฝึก Power 555) แล้วก็ผลของการทดสอบกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น นั่งแล้วยืน (Sit to stand)  , balance test , walking speed test ทั้งหลายก็พบว่าฝึก Power เนี่ยได้ผลที่ดีกว่าฝึก Strength (ต้องบอกมั้ยว่าดีกว่าไม่ได้ฝึกด้วย ๕๕)

เปรียบเทียบ Muscle Power ระหว่างการฝึก Power และ Strength
เปรียบเทียบ Generic test ระหว่างฝึก Power และ Strength

ในบ้านเรานี่ยังมีความเชื่อหลายอย่าง เกี่ยวกับการออกกำลังกาย การฝึกซ้อมที่ต้องก้าวข้ามกันอีกเยอะนะครับ ไม่ใช่แค่ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ในกลุ่มเด็กก็มักจะมีความเชื่อว่าเด็กไม่ควรยกเวท ซึ่งจริงๆจากหลักฐานต่างๆ พบว่าไม่จริงเลย จริงๆแล้วเด็กก็สามารถฝึกซ้อม ออกกำลังกายได้ และมันส่งผลดีต่อพวกเขาด้วย [4]

สรุป

ทั้งนี้การออกกำลังกาย การฝึกซ้อม ก็ส่งผลดีต่อความแข็งแรง กำลัง ของผู้สูงอายุนะครับ แต่อย่างไรก็ตามการฝึกซ้อมก็ควรอยู่ในการดูแลของผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในการฝึกกับผู้สูงอายุ การมีผู้ฝึกสอนที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางมาจะดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยในการฝึกซ้อม ใครที่มีความพร้อม ก็ลองดูครับ

ส่วนท่านที่อาจจะยังมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ งบประมาณ สถานที่ อุปกรณ์ คนดูแล คนพาไปทำกิจกรรม ออกกำลังกายเท่าที่ออกได้ก่อนได้เลยครับ นั่งกับเก้าอี้ยกขาขึ้นมาบริหารแบบ Leg extension , Squat ตัวเปล่า ฯลฯ ยังไงก็ดีกว่าไม่ได้ออกแหละ

อ้างอิง

  1. el Hadouchi, M., Kiers, H., de Vries, R. et al. Effectiveness of power training compared to strength training in older adults: a systematic review and meta-analysis. Eur Rev Aging Phys Act 19, 18 (2022). https://doi.org/10.1186/s11556-022-00297-x
  2. Haff, G. Gregory PhD, CSCSD, FNSCA, ASCC; Nimphius, Sophia PhD, CSCSD. Training Principles for Power. Strength and Conditioning Journal: December 2012 - Volume 34 - Issue 6 - p 2-12 doi: https://doi.org/10.1519/SSC.0b013e31826db467
  3. Jensen A. M. (2011). The use of Neuro Emotional Technique with competitive rowers: A case series. Journal of chiropractic medicine, 10(2), 111–117. https://doi.org/10.1016/j.jcm.2010.12.001
  4. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022b, January 4). เด็ก และวัยรุ่น ไม่ควรเล่นเวทจริงหรือ ? Fat Fighting. Retrieved August 23, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-01-04-dose-children-should-avoid-resistance-training/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK