เกริ่นก่อนเริ่มนะครับ ว่าเป็นงานศึกษาในจีน ดังนั้นไก่ และวัวที่เขาทาน เป็นเนื้อจากคนละแหล่งจากบ้านเราแน่นอน ที่ต้องบอกก่อนเพราะงานนี้เขาดูเรื่องของ Microbiota หรือว่าจุลินทรีย์ต่างๆ นั่นเอง แหล่งวัตถุดิบที่แตกต่างกัน น่าจะส่งผลที่ต่างกันไปด้วย แต่ไอเดียการศึกษาเขาก็น่าสนใจดี เป็นการศึกษาของ Zhao และคณะ (2022) [1]

เขาว่าไก่ กับเนื้อเนี่ย เป็น อันดับ 2 และ 3 ของการบริโภคในจีนเลย จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ (อันดับหนึ่งคืออะไร น่าจะหมูมั้ง ?) ในงานนี้เขาตั้งข้อสงสัยว่า ในคนที่มี BMI ต่างกัน ว่าง่ายๆ คือคนอ้วน คนธรรมดา คนผอมนั่นแหละ การกินเนื้อสัตว์แต่ละชนิด มีผลยังไงต่อ จุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiota) และพวกค่าเลือดอื่นๆ บ้าง
เขาก็ให้อาสาสมัคร 45 คน แยกออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับ BMI ต่ำ กลาง สูง จากนั้นก็ให้ทาน อาหารที่มีเนื้อวัวเป็นหลัก (Beef based) 2 สัปดาห์ แล้วก็ให้สลับไปกินอาหารที่มีไก่เป็นหลัก (Chicken based) 2 สัปดาห์ การเก็บข้อมูลก็มีตอนเริ่ม ระหว่างทางหลังกินอาหารแต่ละอย่างครบ 2 สัปดาห์ จากนั้นก็เอาข้อมูลจากตัวอย่างต่างๆ ทั้งผลเลือด และอุจจาระ มาทำการวิเคราะห์ ข้อมูลทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?
ผลที่เขาพบและกล่าวถึงไว้ก็คือ ในกลุ่มคนที่ BMI กลางถึงสูง การเปลี่ยนชนิดเนื้อสัตว์ จะมีผลต่อ fecal proteomics และ blood index มากกว่าคนที่ BMI ต่ำ ส่วนคนที่ BMI ต่ำจะมีความไวต่อ fecal microbiota และ metabolite ที่มากกว่า แปลว่าอะไร แปลให้เห็นภาพยากวุ่ย เพราะมันยังมีอะไรละเอียดที่อาจจะส่งผลอะไรต่อไปได้อีกหลายอย่าง

ในส่วนอภิปรายผลเขาก็มีบอกความเป็นไปได้ไว้อยู่นะครับ ว่าจุลินทรีย์แต่ละชนิดอาจส่งผลอะไรต่อสุขภาพร่างกายได้บ้าง ซึ่งก็โคตรจะละเอียดใครสนใจจริงๆ แนะนำไปอ่านในเนื้องานต้นฉบับเลยครับ เพราะบางอย่างมันตีความว่าเป็นเหตุเป็นผลกันตรงๆ ในผลระดับใหญ่กว่าไปทันทีเลยไม่ได้
ว่าง่ายๆ เอาให้เห็นภาพหน่อยคือในคนผอม กับคนที่ไม่ผอมเนี่ยตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงชนิดเนื้อสัตว์ที่ทานในเรื่องยิบย่อยภายในร่างกาย แตกต่างกันไป แล้วก็ในคนกลุ่มนี้ (คนจีน) เขาแนะนำว่าคนที่ BMI กลาง ถึงสูงเนี่ย การกินไก่จะลดการอักเสบในร่างกายได้มากกว่าการกินเนื้อวัว (เรื่องฮอร์โมนไก่กินแล้วนมโตอะไรแบบที่บ้านเรากังวลเขาไม่ได้กล่าวไว้ ๕๕๕ และไม่รู้จริงๆมันจริงรึเปล่านะ ๕๕)
งานนี้มันเป็นการดูในผลที่เป็นเรื่องระดับแบบหน่วยเล็กเล๊กกในร่างกาย ถ้าดูผลพวกนี้มันก็จะมีอะไรที่แตกต่างกันให้เห็นแหละ บางอย่างก็ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เห็นเป็นผลลัพธ์ อะไรในระดับที่ใหญ่กว่านั้นมั้ย หรือทานแล้วมีผลอะไรในระยะยาวมากกว่ากันมั้ย อันนั้นจะเป็นคนละเรื่องนึง
สรุป
ในมุมมองของผม ว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านสิ่งนี้ อย่างนึงที่เห็นได้ชัดคือ ในแต่ละคนเนี่ยมันมีความแตกต่างในเรื่องของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่แตกต่างกันไปหลายสิ่ง ดังนั้นเวลาเราเห็นคนอื่นเขารูปร่างแบบนั้น สุขภาพแบบนั้น ความแข็งแรงแบบนั้น อย่าไปเอามาเปรียบเทียบกับตัวเองเลยว่า ทำไมฉันไม่เป็นแบบนั้นบ้าง ทำไมเขาไม่เป็นแบบฉันบ้าง
อย่าไปมัวแต่เทียบกับคนนั้นคนนี้เลย นี่คนผอม กับคนอ้วน กินไก่ กับกินเนื้อวัว ยังมีสิ่งที่แตกต่างกันให้เราเห็นได้เลย จริงมะ ก็ดูเอาฟีดแบคจากตัวเอง ว่าทำสิ่งนี้แล้วส่งผลที่คาดหวังยังไง ได้ผลดีก็ทำต่อ ได้ผลไม่ดีก็ค่อยปรับเปลี่ยน เอาประโยชน์ในมุมนี้ไปแทนแล้วกันนะครับ
อ้างอิง
- Zhao, D., Shan, K., Xie, Y. et al. Body weight index indicates the responses of the fecal microbiota, metabolome and proteome to beef/chicken-based diet alterations in Chinese volunteers. npj Biofilms Microbiomes 8, 56 (2022). https://doi.org/10.1038/s41522-022-00319-7