อะโวคาโด ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก ไม่ได้ช่วยลดไขมัน และรอบเอว

อะโวคาโด แหล่งไขมันดียอดนิยมของ Influencer ทั้งหลาย ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมัน ทำให้หุ่นดี ได้รึเปล่า ? มาดูผลจากงานวิจัยกันครับ


อะโวคาโด ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก ไม่ได้ช่วยลดไขมัน และรอบเอว

อะโวคาโด ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก ! จริงๆอันนี้ใครเข้าใจโภชนาการก็น่าจะพอนึกออก แต่ก็มีหลายคนนะครับ ที่ฝืนกินอะโวคาโดทั้งๆที่ไม่ชอบ หรือไม่มีกำลังทรัพย์เพราะคิดว่ามันช่วยลดน้ำหนัก เพราะเห็นเวลาคนหุ่นดีๆ เขาโพสต์อาหาร มักจะมีอะโวคาโดติดในรูปมาด้วย

วันนี้จะมานำเสนออะโวคาโดจากงานวิจัยสองงานมัดรวมกัน เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก และลดไขมันนะครับ งานแรกผมเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ในทวิตเตอร์ไว้เมื่อช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็มีคนรีทวิตกันไปเยอะมาก [1]

อะโวคาโดกับการลดน้ำหนัก

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาของ Conceição และคณะ ทำการศึกษาแบบ Systematic review และ Meta-analysis จากข้อมูลของงาน RCT 8 งานได้ข้อมูลจากผู้ร่วมทดลอง 657 คน [2]

พบว่าการทานอะโวคาโดไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักนะครับ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ทานอย่างอื่น แต่ในทางกลับกัน การทานอะโวคาโดก็ไม่ได้มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่ม และก็มีข้อดีต่อสุขภาพในอีกพอสมควร ซึ่งก็สอดคล้องกับที่พบในอีกหลายๆงานก่อนหน้านั้น ในแง่ประโยชน์ต่อสุขภาพของอะโวคาโดนะครับ

Conceição และคณะ (2022)

การลดไขมันช่องท้อง และ Metabolic syndrome ล่ะ ?

กินไขมันดีจากอะโวคาโดวันละลูก ส่งผลกับการลดไขมัน และภาวะ Metabolic syndrome ยังไงบ้าง ? คือโดยปกติเนี่ย เวลาเราอ่านบทความสุขภาพต่างๆ จะพบว่าอะโวคาโด (Avocado) เป็นผลไม้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งไขมันดีมาอย่างยาวนานนะครับ ก็มีบทความมากมายที่กล่าวถึงสรรพคุณ และประโยชน์ของอะโวคาโดเยอะแยะเลย (จริงๆผมก็เคยเขียนไว้ด้วยเหมือนกัน ในบทความเรื่อง "สารพันเรื่องต้องรู้กับอะโวคาโด" )

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาออกมาแล้วว่าอะโวคาโดไม่ได้มีผลในการลดน้ำหนักอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่ในแง่มุมอื่นต่อสุขภาพ ก็น่าสนใจที่จะศึกษาอยู่นะครับ มันอาจจะไม่ช่วยลดน้ำหนัก แต่มันเป็นไขมันดีอาจจะช่วยลดการอักเสบ หรือช่วยให้ภาวะ Metabolic syndrome ต่างๆ ดีขึ้นก็ได้

งานนี้เป็นการศึกษาของ Lichtensein และคณะ (2022) เขาก็เลยศึกษาผลของการทานอะโวคาโดวันละ 1 ลูก (ขนาดทั่วไป) ทุกวัน เป็นเวลา 6 เดือน ว่ามันส่งผลอะไรบ้างกับ ไขมันในช่องท้อง (Visceral adiposity tissue, VAT) , ไขมันที่แทรกตัวในตับ (Hepatic lipid content) , hsCRP (เป็นตัวบอกความเสี่ยงโรคหัวใจได้)  แล้วก็พวกค่าเลือดต่างๆ ค่าน้ำตาล ค่าไขมัน , ความดันโลหิต , รอบเอว , อินซูลิน [3]

Lichtensein และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

การศึกษานี้ทำในกลุ่มคนอายุมากกว่า 25 ที่มีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้วสำหรับผู้หญิง และมากกว่า 40 นิ้ว สำหรับผู้ชายนะครับ โดยจะต้องเป็นคนที่ปกติทานอะโวคาโดไม่เกิน 2 ลูกต่อเดือน จากนั้นเขาก็แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ให้ทานอะโวคาโดเสริม วันละ 1 ลูก กับอีกกลุ่มคือกำหนดว่าห้ามกินอะโวคาโดเกินเดือนละ 2 ลูก ส่วนอาหารอื่นๆ ก็แนะนำว่าให้ทานตามเดิม ไม่ต้องปรับเปลี่ยน

หลังจากผ่านไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน (แหม น่าอิจฉากลุ่มที่ได้ทานอะโวคาโดฟรี 6 เดือน ๕๕) ก็กลับมาตรวจค่าต่างๆกันอีกครั้ง แล้วก็นำเอาค่าที่เปลี่ยนแปลงมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติดู

ผลที่พบคือ ?

ผลที่เขาพบนะครับ ถ้าดูในแง่การทานเนี่ย (ใช้ 24hr recall ประเมิน) พบว่ากลุ่มที่ทานอะโวคาโดทุกวัน ได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นตลอดการวิจัยวันละประมาณ 160 แคลทุกวันเป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนอีกกลุ่มก็ทานใกล้เคียงเดิมที่เคยทานอยู่นะครับ

การทานของแต่ละกลุ่มในระยะเวลาวิจัย กลุ่มทานอะโวคาโดได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 160 แคล

ทีนี้มาดูในส่วนที่เขาสนใจ คือ VAT นั้นก็พบว่าไม่มีอะไรต่างกันเท่าไหร่นะครับ ส่วนไขมันที่แทรกในตับก็ไม่แตกต่างกัน พวกค่า hsCRP และค่าต่างๆที่เกี่ยวกับ Metbolic syndrome ก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ค่า LDL ลดลงเล้กน้อยในกลุ่มที่ทานอะโวคาโดทุกวัน และน้ำหนักก็ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ ก็นิ่งๆทั้งสองกลุ่ม

ผลก็ไม่ค่อยแตกต่างกันนะครับ

ในงานนี้เขาก็สรุปไว้ว่า การทานอะโวคาโดวันละลูก เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน ไม่ได้ช่วยลดไขมันในช่องท้อง แล้วก็มีผลต่อปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจน้อยมาก และจากข้อมูลในงานก็พบว่าไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก และไม่ได้ช่วยลดรอบเอวด้วย ซึ่งก็แปลว่าไม่ได้ทำให้ผอมนั่นแหละครับ

คืออาจจะดูเหมือนกับว่าทานอะโวคาโดวันละลูกไม่มีประโยชน์อะไรเลย ในสิ่งที่เขาดูนะครับ แต่ในอีกมุมนึงมันก็น่าสนใจอยู่นะครับ เพราะว่าถ้ามองในแง่ของการทาน นี่คือทานเพิ่มวันละ 160 แคลทุกวัน เป็นเวลาครึ่งปี น้ำหนักก็ไม่ขึ้นอะไรมากเลยนะเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทานอะโวคาโดแล้วทานอาหารเหมือนเดิม

ถ้าจะแปลว่ามันไม่ได้ทำให้ผอม ในอีกทางนึงก็อาจจะมองได้ว่ามันก็ไม่ได้ทำให้อ้วนขึ้นเหมือนกันมั้ย ? ซึ่งผลก็สอดคล้องกับงานของ Conceição และคณะ ที่กล่าวไปตอนต้น คือน้ำหนักไม่ลด แต่ก็ไม่ได้เพิ่ม ซึ่งงานนี้จุดน่าสนใจคือกลุ่มที่ทานอะโวคาโดเพิ่มนั้นทานแล้วได้รับพลังงานอาหารเยอะกว่าอีกกลุ่มนึง ก็แปลกดีเหมือนกันนะครับ ว่ามีกลไกอะไรมารองรับพลังงานส่วนที่เพิ่มมานี้บ้าง

Perfectly Ripe Avocado
Photo by Kelly Sikkema / Unsplash

สรุป

สรุปนะครับ อะโวคาโดโดยตัวมันเองเป็นแหล่งไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าชอบก็กินได้ ดีมีประโยชน์ แต่ไม่ได้มีสารลดไขมัน ลดความอ้วน ไม่ได้มีผลกับการลดน้ำหนัก หรือลดไขมัน ถ้าไม่ได้คุมอาหาร

ถ้าไม่ชอบ หรือรู้สึกว่ามันแพงจัง ก็ไม่จำเป็นต้องขวนขวายปีนบันไดขายตับขายไตไปซื้อมากิน มีแหล่งไขมันอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพทานได้เช่นกัน อ้อ ตรงนี้อยากเพิ่มเติมอีกอย่างว่าข้อดีต่างๆ ที่ได้จากการทานอะโวคาโดเอง ก็ไม่ใช่สิ่งที่พบได้แต่จากอะโวคาโดเพียงอย่างเดียวนะครับ ถ้าไม่ชอบ หรือซื้อไม่ไหว ทานพวกแหล่งไขมันที่ดีต่อสุขภาพแหล่งอื่นๆได้ครับ

อ้างอิง

  1. Fat Fighting on. (2022, March 24). [Twitter]. Twitter. https://twitter.com/FatFightingClub/status/1506783615438315526
  2. Conceição, A. R., Fraiz, G. M., Rocha, D., & Bressan, J. (2022). Can avocado intake improve weight loss in adults with excess weight? A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Nutrition research (New York, N.Y.), 102, 45–58. https://doi.org/10.1016/j.nutres.2022.03.005
  3. Lichtenstein, A. H., Kris-Etherton, P. M., Petersen, K. S., Matthan, N. R., Barnes, S., Vitolins, M. Z., Li, Z., Sabaté, J., Rajaram, S., Chowdhury, S., Davis, K. M., Galluccio, J., Gilhooly, C. H., Legro, R. S., Li, J., Lovato, L., Perdue, L. H., Petty, G., Rasmussen, A. M., Segovia-Siapco, G., … Reboussin, D. M. (2022). Effect of Incorporating 1 Avocado Per Day Versus Habitual Diet on Visceral Adiposity: A Randomized Trial. Journal of the American Heart Association, 11(14), e025657. https://doi.org/10.1161/JAHA.122.025657

เพิ่มเติม

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK