ธรรมชาติมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ?

บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาว่า การที่เรามองวิว ที่เป็นธรรมชาติๆ มันช่วยเรื่องความรู้สึก ความคิด จิตใจ อะไรได้นะครับ แต่ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆรึเปล่า หรือเราแค่คิดไปเอง ?


ธรรมชาติมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ?

ภาพธรรมชาติ (ยังไม่ใช่ทิวทัศน์จริงๆนะครับ) มีผลยังไงกับความคิดสร้างสรรค์ของคนเราบ้าง มีผลจริงๆ หรือว่าเอ๊ะ เราก็คิดไปเอง มองตึกมองอาคาร ก็มีผลเหมือนกันรึเปล่า อ่ะมาลองดูงานวิจัยชิ้นนี้กันครับ

งานนี้เป็นการศึกษาของ Yeh และคณะ (2022) [1] เขาก็ศึกษาดูผลของ การมองภาพสิ่งแวดล้อม ที่มีความเป็นธรรมชาติ ในระดับที่แตกต่างกันออกไป (มาก , กลาง และน้อย) แล้วดูคะแนนที่ประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ของผู้ที่ชมภาพที่แตกต่างกันก่อนหน้านั้นๆ ออกมาเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง

Yeh และคณะ (2022)

ศึกษาในใคร ?

ก็เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ นะครับ ทั้งหมด 100 คน ชาย 46 หญิง 54 อายุเฉลี่ยก็ 23 ปี จากนั้นก็แยกออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มเนี่ย มองภาพ ที่มีระดับความเป็นธรรมชาติแตกต่างกัน มาก กลาง และน้อย ภาพแต่ละชุดก็จะมีจำนวน 18 ภาพ ให้ดูภาพละ 10 วิ แล้วก็วนไปจนครบ 3 นาที แล้วก็นำมาประเมิน

รูปแบบการศึกษา

แล้วจะวัดความคิดสร้างสรรค์กันได้ยังไง ?

การประเมินก็มีเครื่องมือสองอย่างที่เขาใช้ อันแรกเป็นเครื่องมือวัดความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลัง (Perceived Restoration scale) ตัวนี้ก็ดูว่าหลังจากดูภาพแล้ว เรารู้สึกได้หลีกหนี มีความหลงไหล สามารถพิเคราะห์ได้เพียงพอ รู้สึกว่าภาพนั้นสอดคล้องกับการฟื้นฟูจิตใจมั้ยอะไรยังไง ทำนองนี้นะครับ เป็นการประเมินแบบนึง

ส่วนการประเมินอีกแบบ ก็จะเป็นการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ ก็จะมีแบ่งให้คะแนนเป็นหมวดๆ อีก รายละเอียดถ้าใครสนใจการประเมินสองอย่างนี้ ลองดูในเนื้อหาของงานได้เลยนะครับ

ผลที่ได้คือ ?

มาดูที่ผลที่เขาพบกันดีกว่า เขาก็พบว่าการมองภาพที่มีความเป็นธรรมชาติสูง (และบางหมวดรวมถึงกลางด้วย) นั้นดีกว่าภาพที่มีความเป็นธรรมชาติน้อย ในแง่ของการฟื้นฟูพลัง (เราอาจจะมองว่ามันคือการฟื้นฟูจิตใจก็น่าจะได้) และในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ คือทั้งสองอย่างนี้ การได้ดูภาพธรรมชาตินั้นก็ส่งผลดีอย่างค่อนข้างชัดเจน

อาจจะมีไม่ต่างกันบ้างในรายละเอียด เพราะบางภาพ กลุ่มที่มีความเป็นธรรมชาติสูง และกลาง ดูไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าเทียบกับภาพที่มีความเป็นธรรมชาติน้อย อันนั้นก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว

ซึ่งก็น่าสนใจนะครับ อย่างในไทยเราก็มีการศึกษาคล้ายๆ กันอยู่บ้างนะครับ พีรพรรณ และคณะ (2563) ได้พัฒนาแบบประเมินในลักษณะใกล้เคียงกันนี้ เป็นภาษาไทยและทำการศึกษาเพื่อประเมินความรู้สึก ประเมินความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ถ้าใครศึกษาแนวนี้น่าจะนำไปใช้งานกันได้ [2] ในการศึกษาของ ภักดิ์จีรา และอภิโชค (2563) พบว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์ ให้มีสภาพความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ก็ส่งผลดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกนะครับ [3]

Photo by clement fusil / Unsplash

สรุป

จุดนี้เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ปัจจุบันเนี่ยพวก Photo frame ที่เป็นดิจิตอล หรือแม้แต่พวกจอใหญ่ๆ ก็ไม่ได้ราคาแพงนะครับ บางที สมมุติว่าเราอยู่ในพื้นที่ทำงานที่เป็นออฟฟิศ การจัดสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำงาน เดิมๆมันไม่มีอะไรให้รู้สึกสัมผัสธรรมชาติเลย ก็อาจจะเพิ่มอะไรพวกนี้เข้ามาหน่อย จะเป็นภาพวาด หรือภาพแสดงบนจอวนเปลี่ยนรูปไปมา ให้มันช่วยบ้าง ดีกว่าอยู่แบบแห้งๆ มันก็อาจจะเกิดประโยชน์ได้

หรือการจัดพื้นที่อื่นๆ เช่นห้องเรียน หรือห้องเราเอง ให้มีอะไรพวกนี้เพิ่มเข้ามาบ้าง ก็อาจจะมีประโยชน์กับความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึก หรือสภาพจิตใจก็ได้นะครับ

อ้างอิง

  1. Yeh C-W, Hung S-H and Chang C-Y (2022) The influence of natural environments on creativity. Front. Psychiatry 13:895213. doi: https://doi.org/10.3389/fpsyt.2022.895213
  2. พีรพรรณ ธีรบุษยเวศย์, จามรี จุลกะรัตน์, อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์, และวิลาสินี สุขสว่าง. (2563). “การพัฒนาเครื่องมือสำหรับประเมินภูมิทัศน์ในด้านการส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ” สาระศาสตร์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3(2): 371-384. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sarasatr/article/download/240512/166245/847155
  3. ภักดิ์จีรา บุญเติง และ อภิโชค เลขะกุล. (2563). “การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจจากความเหนื่อยล้าและพัฒนาการเรียนรู้ ของเด็กออทิสติก คลินิกจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่” มนุษยศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 2. https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JHUMANS/article/download/237849/166518/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK