ทำไมบางครั้งเราออกกำลังกาย ไปเรื่อยๆ แล้วน้ำหนักไม่ค่อยลด จนน้ำหนักค้าง ?

จากงานวิจัยนี้ เขาพบว่าในบางคนการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น เมื่อทำไปสักพัก ร่างกายอาจจะมีการปรับลดการเผาผลาญลงก็ได้ มันอาจจะเป็นสาเหตุที่หลายคนเรียกว่าภาวะ "น้ำหนักนิ่ง" ก็ได้


ทำไมบางครั้งเราออกกำลังกาย ไปเรื่อยๆ แล้วน้ำหนักไม่ค่อยลด จนน้ำหนักค้าง ?

กิจกรรมทางกาย (Physical Activity, PA) นี่คือเป็นสิ่งดีนะครับ มันช่วยให้สุขภาพดีขึ้นในหลายๆด้าน แต่ว่าบางครั้งเราก็จะพบว่าเราออกกำลังกายเป็นประจำไปเรื่อยๆ เราแอคทีฟเท่าๆเดิมไปเรื่อยๆ เอ้อ มันไม่ได้ส่งผลในด้านของการทำให้เกิดพลังงานติดลบ (Calories Deficit) เหมือนช่วงแรกๆ

ปีก่อนก็มีงานวิจัยที่เสนอแนวคิดเรื่อง Energy Compensation Model และผมก็ได้นำเสนอไว้ในทวิตเตอร์ไปแล้ว [1] ซึ่งเป็นโมเดลการใช้พลังงานที่ร่างกาย ลดทอนการใช้พลังงานบางส่วนลง เพื่อชดเชยกับ PA ในรูปแบบต่างๆ และจากการศึกษาฐานข้อมูล DLW ขนาดใหญ่มากๆ [2] พบว่ามันน่าจะมีอยู่ 3 model

Model พลังงานในชีวิตประจำวัน 3 รูปแบบ

และคร่าวๆ ไอ้ Compensation เนี่ยคือการที่ ร่างกายปรับ BMR ลง เพื่อเพื่อชดเลยกับพลังงานที่ใช้ในการออกกำลังกาย (Exercise Activity Thermogenesis, EAT) (หรืออาจจะ Non-EAT หรือ NEAT ด้วยก็ได้) แต่กลไก หรืออะไรเป็นสาเหตุบ้าง ก็ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจน แต่เมื่อมีการตั้งโมเดลขึ้นมา ก็มีการศึกษาต่อเนื่องตามกันมาครับ

กลับมาที่งานนี้ งานนี้เป็นการศึกษา เป็นการศึกษาของ Klasson และคณะ (2022) [2] เพื่อดูความสัมพันธ์ของกิจกรรมทางกาย ในชีวิตประจำวันของเรา กับระดับฮอร์โมนไทรอย์ด , ค่าการอักเสบ และตัวบ่งขี้ของระบบภูมิคุ้มกันนะครับ

Klasson และคณะ (2022)

ศึกษาจากอะไร ?

ในงานนี้เขาใช้ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลการสำรวจสุขภาพและโภชนาการของสหรัฐ (NHANES) ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดย CDC และเปิดข้อมูลบางส่วนให้เป็น public ครับ เขาก็นำข้อมูลจากถังนี้บางส่วนมาวิเคราะห์ โดยดูอันที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ PA และค่าอื่นๆที่เขาต้องการ

PA ในข้อมูลนี้ก็จะเก็บโดยใช้ Accelerometry ส่วนนึง ซึ่งตรงนี้จะใช้เป็น ActiGraph AM-7164  เขาก็คัดเฉพาะข้อมูลที่มีระยะเวลาเก็บข้อมูล PA นานกว่า 4 วัน ที่ในแต่ละวันต้องใส่ไว้อย่างน้อย 10 ชั่วโมง แล้วก็มีการแยกระดับ PA ว่าเป็นกิจกรรมระดับ กลางถึงหนัก (MVPA) อยู่ที่จุดตัดตรงที่มี PA มากกว่า 2020 ครั้งต่อนาที (จริงๆตรงนี้บางกิจกรรมอาจจะตรวจจับไม่ได้นะเนี่ย)

อีกส่วนใช้ PA Questionnaire ซึ่งเป็นแบบสอบถามนั่นเอง และข้อมูลอีกส่วนที่เขาสนใจก็คือระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ก็ดู TSH , T4 ปรากฎว่าข้อมูลที่มีค่าไทรอยด์ ดันไม่มีการวัดผลด้วย Accessleometry แต่ว่ามีข้อมูลแบบสอบถามอยู่ ก็นำข้อมูลตรงนั้นมาใช้ ส่วนระบบภูมิคุ้มกัน ก็ดู CRP , Complete blood cell , IgE และ Fibrinogen จากนั้นก็นำไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?

เขาก็พบว่าในประชากรกลุ่มนี้ (คน US) ที่มี PA สูงกว่าเนี่ย มีแนวโน้มที่จะมี Inflammatory cytokines ทั้ง CRP และ fibrinogen ลดลง (ซึ่งก็น่าจะดีการมี PA แล้วมีการอักเสบต่างๆลดเนี่ย เอ๊ะ แล้วทำไมหมดบางคนต่อต้านการออกกำลังกาย ขี้เกียจมั้ง ช่างแม่ง ๕๕)

ข้อมูลของ TSH และ T4 ในกลุ่มคนสองกลุ่ม เมื่อมีการวิเคราะห์ทางสถิติออกมา

มาดูที่ TSH กับ T4 คนที่แอคทีฟมากกว่า มันดูจะมีข้อมูลบางส่วนที่ TSH มันไม่ตอบสนองกับ T4 ที่ลดลงอย่างที่น่าจะเป็น  ตรงนี้ผู้วิจัยเขามองว่าอาจจะสนับสนุนกับสมมติฐานที่ว่า PA ที่เพิ่มขึ้นบางส่วนไปกด Metabolic activity ของฮอร์โมนไทรอยด์ลงบางส่วน

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นแค่การศึกษาแบบ Cross section จากข้อมูลที่มีอยู่ มันขาดความชัดเจน ปัจจัยอะไรอีกหลายๆอย่างที่จะบอกว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลได้ชัดๆนะครับ แต่ก็มีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่อาจจะเป็นสิ่งนึง ที่ทำให้การเผาผลาญโดยรวมของบางคน มันไม่ได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมี PA สม่ำเสมอ หรือมี PA เพิ่มขึ้น

สรุป

ก็ย้ำอีกรอบนะครับ PA ดีต่อสุขภาพในหลายๆด้าน ไม่ได้นำเสนอเพื่อให้กังวลกับการออกกำลังกาย หรือการแอคทีฟในชีวิตประจำวัน แต่ในเรื่องของ Metabolism เนี่ยก็ยังมีอะไรที่ มันยังไม่ชัดเจนในอีกหลายๆเรื่อง การที่เขาศึกษาอะไรเพิ่มเติม ก็ทำให้เราเห็นอะไรได้มากขึ้น

ถ้าเรารู้สึกว่าไอ้สิ่งนี้มันไม่โอเค กับข้อมูลของเรา ความคิด ความเชื่อของเรา ก็มองผ่านไปก็ได้ครับ คนที่เขาสนใจและศึกษาด้านนี้ต่อก็ยังมีอยู่ และข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ :-) ส่วนผมถ้าเห็นว่างานไหนมีจุดที่น่าสนใจจะนำมาแชร์ต่อ (จริงๆ ใน ref ก็ยังมีอีกหลายงานที่น่าสนใจไปอ่านตามนะครับ)

ในทางที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ถ้ามองจากเรื่อง Energy Compensation Model สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลดน้ำหนัก ลดไขมัน ในคนบางกลุ่มเราอาจจะต้อง ให้น้ำหนักกับการทำ Cal deficit จากการปรับโภชนาการมากกว่าการเพิ่มการออกกำลังกายต่อไปเมื่อพบว่าเริ่มมีการ Adapatation หรืออาจจะต้องมีการปรับทำ Cycling ของการ Diet และ Maintain ให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อยังคงให้ได้ผลของการลดไขมันอยู่ ต้องค่อยๆดูกันไปอีกทีครับ

อ้างอิง

  1. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2021b, August 28). Fat Fighting on [Tweet]. Twitter. https://twitter.com/FatFightingClub/status/1431468267940433921
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2021c, September 7). เผยความจริง (?) เกี่ยวกับอัตราการเผาผลาญเราตั้งแต่เกิดยันตาย. Fat Fighting. Retrieved July 19, 2022, from https://www.fatfighting.net/2021-09-07-the-truth-about-metabolic/
  3. Klasson CL, Sadhir S, Pontzer H (2022) Daily physical activity is negatively associated with thyroid hormone levels, inflammation, and immune system markers among men and women in the NHANES dataset. PLoS ONE 17(7): e0270221. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0270221

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK