ไขปริศนาจักรวาล คนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ร่างกายเขาเป็นยังไงกันแน่ !!

เคยสงสัยมั้ยครับ ทำไมบางคนผอมๆ กินยังไงก็ไม่อ้วน มีหลุมดำในกระเพาะรึเปล่า งานวิจัยชิ้นนี้จะไขความลับของคนกลุ่มนี้ ให้เราได้รู้กันว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ที่ทำให้เขาไม่อ้วน


ไขปริศนาจักรวาล คนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ร่างกายเขาเป็นยังไงกันแน่ !!

งานนี้เป็นการศึกษา เพื่อดูว่าคนที่สุขภาพดี รูปร่างผอม ที่ว่ากินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนเนี่ย จริงๆแล้วกลไกภายในร่างกายเป็นยังไงบ้าง ระบบเผาผลาญ (Metabolism) ดีจัดหรือยังไง ทำไมกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน มันเป็นไงกันแน่ เอาวิทยาศาสตร์มาวงดูสิ

Hu และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เป็นการศึกษาของ Hu และคณะ (20220) [1] นะครับทำจีน ในปักกิ่งนะครับ ในแง่ของเผ่าพันธุ์น่าจะใกล้เคียงที่จะเอามาดูกับเราๆได้อยู่บ้าง โดยเขาก็นำคนสุขภาพดีที่มี BMI ต่ำกว่า 18.5 (Healthy underweight, HU) มาทำการวิจัย 150 คนนะครับ แล้วก็เปรียบเทียบกับคนที่ BMI 21.5-25 ซึ่งเป็นเกณฑ์น้ำหนักปกติมาอีก 173 คน โดยปริมาณก็ถือว่าเยอะใช้ได้เลยนะครับเนี่ย ทุกคนไม่มีปัญหาการกินผิดปกติ ไม่มีโรคอะไรต่างๆ ที่ทำให้น้ำหนักลดผิดปกติ

ศึกษายังไง พบอะไรบ้าง?

จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ ในเบื้องต้นก็พบว่ากลุ่ม HU นี่ เป็นผู้หญิงถึง 83% เมื่อเทียบกับผู้หญิงในกลุ่มปกติที่ 46.8% อายุเฉลี่ยทั้งหมด 26-27 ปี นะครับ

Total Energy Expenditure

พอมาดูที่การใช้พลังงานรวม Total Energy Expenditure (TEE) เนี่ยกลุ่ม HU มี TEE ประมาณ 1700 แคล/วัน น้อยกว่ากลุ่มปกติที่ใช้พลังงานราว 2031 แคล/วัน ในระหว่างการวิจัยทุกคนไม่มีใครน้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกตินะครับ ก็ประมาณว่าเป็นช่วงที่ทานระดับสมดุลย์ (Maintain) นั่นแหละ

TEE ในงานมาจากไหน ?? เขาใช้การประเมินด้วยวิธี Doubly Labeled Water ซึ่งก็เป็นโคตรพ่อโคตรแม่ Gold standard สำหรับการวัดค่าการใช้พลังงานในงานวิจัย ใครบอกว่าเราวัดการใช้พลังงานจริงๆไม่ได้ ให้จับนั่งมัดกับเก้าอี้ แล้วเอากางเกงในเปียกดีดปากมันจนกว่าจะแห้ง

หลักการของวิธี Doubly Labeled Water

เขาก็ลองเอา TEE ที่วัดได้จริงๆ มาเปรียบเทียบกับ TEE ที่ได้จากการคำนวณตามสูตร (Expected TEE) ที่ใช้สัดส่วนมวลกาย FM และ FFM ของ Pontzer และคณะ (2021) [2] มาคิดเทียบกันด้วย ผลก็คือว่าค่าการใช้พลังงานจริงของกลุ่ม HU เมื่อเทียบกับการคำนวณ ค่อนข้างใกล้เคียงกัน 99.1% ส่วนกลุ่มน้ำหนักปกติ TEE ที่วัดได้คิดเป็น 90.4% ของค่าที่ได้จากการคำนวณ

Resting Energy Expenditure

ส่วนพลังงานขณะพัก (Resting Energy Expenditure, REE) กลุ่ม HU ใช้พลังงาน 1340 แคล/วัน กลุ่มน้ำหนักปกติ 1493 แคล/วัน ตรงพวกนี้รายละเอียดก็ค่อนข้างเยอะนะครับ โดยสรุปก็คือเขาศึกษาเพื่อดูค่าพลังงาน แต่ละ component ของแต่ละกลุ่มออกมา ทั้ง TEE, REE , PA ต่างๆ

เมื่อดูที่ REE และดูที่ฮอร์โมนไทรอยด์กลุ่ม HU มีค่า Free T4 ที่สูงกว่า ส่วน T4, Free T3 ก็มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วน T3 และ TSH ไม่แตกต่างกัน ตรงนี้น่าจะเป็นส่วนนึงที่ทำให้การเผาผลาญเมื่อเทียบกับแบบคำนวณ กลุ่ม HU มีค่าสูงกว่า

Physical Activity

เมื่อดูที่กิจกรรมทางกาย (Physical activity, PA) ก็พบว่าในกลุ่ม HU เนี่ย ไม่ค่อย active เท่าไหร่นะครับ พวกการวัดกิจกรรมต่างๆ จาก Accelerometry เนี่ยพบว่าน้อยกว่ากลุ่มน้ำหนักปกติ 23% ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และพอเทียบว่ามีช่วงไหนมากกว่าบ้างมั้ย ก็พบว่าน้อยกว่าตลอดเวลาทั้งวัน

ผลที่ได้ในด้านต่างๆ ระหว่างคนสองกลุ่มนี้นะครับ

Food Intake

และจากพลังงานที่วัดได้จริงๆ กับการที่น้ำหนักเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 สัปดาห์ ซึ่งในระยะเวลานั้นน้ำหนักตัวคงที่ ก็แปลได้ว่าอาหารที่ทาน ก็มีระดับเท่ากับ TEE ในแต่ละวันโดยเฉลี่ย ตามหลักที่ว่า Weight Main -> Cal in (EI) = Cal out (TEE) ซึ่งตรงนี้สามารถนำมาคิดเพื่อดู EI ที่แท้จริงได้ ละเอียดแหละเอาจริงแม่นกว่า Food Record หรือวิธีอื่น อีกนะ

ซึ่งจากข้อมูลที่เขาพบเนี่ยในเรื่องของการกิน กลุ่ม HU นี่ทานน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติอยู่ 12% อันนี้เขาไม่ได้กำหนดการกินนะครับ ในทุกกลุ่ม ก็คือกินตามปกติของแต่ละคนเลย แต่พอมาดูว่าทานไปเท่าไหร่ ก็พบว่าไอ้ที่คิดว่าจะกินเยอะ จริงๆคือกินน้อยกว่าคนน้ำหนักปกติ

เมื่อดูค่า Lipid  ระดับไตรกลีเซอรัล , LDLในกลุ่ม HU นั้นน้อยกว่าอีกกลุ่ม ในขณะที่ HDL นั้นสูงกว่า ซึ่งก็อาจจะเป็นผลมาจากรูปแแบบการทานอาหาร และความที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า อาจจะมีผลมากกว่าเพราะว่าถ้าดูจาก PA กลุ่ม HU นี่ Active น้อยกว่า แต่พวกผล Lipid ดีกว่า

ภาพรวมของผลที่เกิดขึ้นจากการศึกษานี้

สรุป

สรุปก็คือจากข้อมูลที่เขาศึกษาอย่างละเอียด พวกคนที่กินยังไงก็ไม่อ้วน หรือกินเยอะแล้วไปออกกำลังกายหมด เนี่ย ก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะว่าพอมาดูละเอียดแล้วพบว่าคนที่ไม่อ้วน ก็กินน้อยนั่นเองครับ ส่วนที่จะบอกว่าคนกลุ่มนี้ กินเยอะออกเยอะ ก็ไม่ใช่ด้วย เพราะว่าเขาก็ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมที่หนักกว่าอีกกลุ่ม

ย้ำอีกรอบ คนกลุ่มที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ที่มองกันว่ากินยังไงก็ไม่อ้วน จริงๆแล้วพบว่า กินน้อยกว่า 12% มีกิจกรรมทางกายที่น้อยกว่า 23.3% ค่าพลังงานรวมไม่ได้สูงกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ แต่พลังงานขณะพักมีสัดส่วนสูงกว่า กิจกรรมของฮอร์โมนไทรอยด์มีมากกว่า

เลิกเชื่อเรื่องหลุมดำในกระเพาะกันได้แล้วนะครับ เอาจริงถ้าเขากินเยอะมากกว่าที่ร่างกายใช้ เขาก็อ้วนได้เหมือนกันอ่ะแหละ บางคนที่เขาคิดว่าเขากินเยอะแล้วทำไมน้ำหนักไม่ขึ้น เท่าที่เคยเจอมาเอ็งยังกินห่างไกลคำว่าน้อยของข้ามากไอ้น้อง ๕๕๕

Photo by Fuu J / Unsplash

งานนี้มีประโยชน์ยังไง

จากข้อมูลนี้เรานำกลับไปคิดใหม่ได้นะครับ คือหลายคนติดกับดักความคิดที่ทำให้ท้อใจ ว่าทำไมฉันกินนิดหน่อยก็อ้วนแล้ว ทำไมคนอื่นกินเยอะกว่าก็ไม่อ้วน จริงๆเราไม่ทราบหรอกครับ ว่าแต่ละคนกินเท่าไหร่และมีละเอียดๆ ผมเคยสอบถามไปยันนักกินจุ ที่ไม่อ้วนหลายท่าน ว่าเขากินยังไงทำไมไม่อ้วน เคล็ดลับไม่มีอะไรเลยครับ เขาไม่ได้กินแบบนั้นทุกมื้อตลอดเวลา วันไหนกินเยอะก็อดอาหาร (Fasting) ในมื้อหลังจากนั้นยาวๆ และเขาก็มีกิจกรรม มีการออกกำลังกายด้วย

ในขณะที่บางคนที่อ้วนๆเนี่ย คิดว่าตัวเองกินน้อย แต่จริงๆกินเยอะ ก็มีจำนวนพอสมควรนะครับ [3] และบางคนเมื่อลดน้ำหนักแล้ว ก็พบกับภาวะการปรับตัวของร่างกาย ทำให้การเผาผลาญลดต่ำลง หรือที่เรียกว่า Metabolic Adaptation [4] ทำให้ลดน้ำหนักได้ยากลงเรื่อยๆ แม้จะกินน้อยแล้วก็ตาม ปัจจัยต่างๆ มันมีหลายเรื่อง แตกต่างกันไป ว่าใครกำลังเจอกับปัญหาลักษณะไหน

การเปลี่ยนแปลงรูปร่างจะว่ายากก็ใช่ จะว่าไม่ยากก็ไม่ได้ยากมาก ถ้าเราเข้าใจและศึกษาเรื่องต่างๆ เราจะรู้และไม่หลงไปกับสารพัดความเชื่อ ที่ทำให้เราเป็นท้อ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังพยายามอยู่นะครับ

อ้างอิง

  1. Hu, S., Zhang, X., Stamatiou, M., Hambly, C., Huang, Y., Ma, J., Li, Y., & Speakman, J. R. (2022). Higher than predicted resting energy expenditure and lower physical activity in healthy underweight Chinese adults. Cell metabolism, S1550-4131(22)00194-2. Advance online publication. https://doi.org/10.1016/j.cmet.2022.05.012
  2. Pontzer, H., Yamada, Y., Sagayama, H., Ainslie, P. N., Andersen, L. F., Anderson, L. J., Arab, L., Baddou, I., Bedu-Addo, K., Blaak, E. E., Blanc, S., Bonomi, A. G., Bouten, C., Bovet, P., Buchowski, M. S., Butte, N. F., Camps, S. G., Close, G. L., Cooper, J. A., Cooper, R., … IAEA DLW Database Consortium (2021). Daily energy expenditure through the human life course. Science (New York, N.Y.), 373(6556), 808–812. https://doi.org/10.1126/science.abe5017
  3. Lichtman, S. W., Pisarska, K., Berman, E. R., Pestone, M., Dowling, H., Offenbacher, E., Weisel, H., Heshka, S., Matthews, D. E., & Heymsfield, S. B. (1992). Discrepancy between self-reported and actual caloric intake and exercise in obese subjects. The New England journal of medicine, 327(27), 1893–1898. https://doi.org/10.1056/NEJM199212313272701
  4. Martins, C., Gower, B. A., & Hunter, G. R. (2022). Metabolic adaptation delays time to reach weight loss goals. Obesity (Silver Spring, Md.), 30(2), 400–406. https://doi.org/10.1002/oby.23333

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK