ไม่ IF ไม่ Keto ไม่ Low carb ไม่ลด Cal ทานเท่าเดิมเพิ่มส่วนคาร์บ ลดน้ำหนัก ลดน้ำตาลได้นี่มันบ้าไปแล้ว

เมื่อคาร์โบไฮเดรตไม่ได้ทำให้อ้วน แถมกินเพิ่มแล้วทำให้ลดน้ำหนักได้อีกต่างหาก นี่มันอะไรกัน ข้อมูลจากงานวิจัยที่หมอลดน้ำหนักคนดังในเน็ตไม่อยากให้คุณเห็น


ไม่ IF ไม่ Keto ไม่ Low carb ไม่ลด Cal ทานเท่าเดิมเพิ่มส่วนคาร์บ ลดน้ำหนัก ลดน้ำตาลได้นี่มันบ้าไปแล้ว

ในขณะที่สารพัด Diet มุ่งกันไปว่า Low carb , Keto หรือ Low fat หรือทำไม่ทำ IF อันไหนดีกว่ากัน งานนี้เขาสวนทุกกระแส แล้วไป Diet ด้วยการจำกัด Protein !!

ก่อนจะไปพูดถึงเนื้องาน หลังจากงานนี้ออกมาในแวดวงนักวิจัยที่ผมติดตามอยู่ ก็พูดถึงกันค่อนข้างเยอะนะครับ มีการแสดงความคิดเห็นกันไปอย่าหลากหลาย เวลาเราอ่านเราก็ค่อยๆใจเย็นๆ แล้วค่อยๆอ่าน ค่อยๆนึกไปนะครับ ว่าเขาทดลองอะไรยังไง อย่าพึ่งเขวี้ยงโทสับทิ้ง หรือเอาตีนถีบจอคอมพ์พังนะครับ

งานนี้เขาศึกษาเป็นการศึกษาของ Ferraz-Bannitz และคณะ (2022) [1] โดยสมมุติฐานที่เขาวางไว้ ว่าการจำกัดโปรตีน จะให้ผลในการลดน้ำหนักได้ ซึ่งก็น่าสนใจอยู่ เพราะว่าในงานนี้ เขาบอกว่าไม่ได้ให้ทานลดพลังงานลงด้วยนี่สิครับ เป็นไปได้หรือ ?

Ferraz-Bannitz และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

โดยเขาทำการศึกษาในกลุ่มคนอายุระหว่าง 25-60 ปี มี BMI ตั้งแต่ 28-40 เป็นงานในบราซิลนะครับ และทุกคนเนี่ยจะต้องมีภาวะ Metabolic Syndrome เบาหวาน ความดัน ไขมัน เรียกว่าเอามาครบทีมงาน เบาหวานและชาวคณะ สุขภาพดีไม่เอานะ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย

วิธิศึกษาทำยังไงบ้าง ?

จากนั้นในช่วงทดลองก็ทำที่โรงพยาบาล ทุกคนนี่ก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขาควบคุมปัจจัยต่างๆไว้ ได้คนมาทั้งสิ้น 21 คน แบ่งเป็นกลุ่ม คุมแคลอรี่ (Calories Restriction, CR) 11 คน กลุ่มจำกัดโปรตีน (Protein Restriction, PR) 10 คน จัดกลุ่มอย่างสุ่ม

ก่อนการทดลอง ก่อนที่จะมาเข้าบ้าน AF ก็มีการเก็บข้อมูลชีวเคมี น้ำหนักตัว กันก่อน และทุกคนจะได้รับคำแนะนำให้ทานอาหารที่ 2000 แคล สัดส่วนสารอาหารหลัก คาร์บ 50% ไขมัน 30 และ โปรตีน 20 โดยมีตัวอย่างอาหารให้ดูเป็นการอ้างอิงว่าต้องกินยังไง

การทานแต่ละกลุ่มเป็นยังไง ?

หลังจากนั้น พอแบ่งกลุ่มเรียบร้อยแล้วและเข้าบ้าน AF แล้วกลุ่ม CR จะได้รับอาหารที่มีพลังงานลดลง 25% จากพลังงานที่ต้องการ ซึ่งคำนวณมาจากการวัด Indirect calorimetry ซึ่งเฉลี่ยๆ กลุ่มนี้ทานกันประมาณ  1,419 แคลต่อวัน สัดส่วนอาหาร คาร์บ 50% ไขมัน 30% และโปรตีน 20% อาหารมีจัดให้ กินอยู่อย่างราชา ๕๕

ส่วนกลุ่ม PR จะให้ทาน isocaloric ก็คือคำนวณพลังงานที่ร่างกายต้องการได้เท่าไหร่ กินตามนั้น แต่ให้ลดปริมาณโปรตีนลง 50% ส่วนโปรตีนที่ลดลง ก็ไปให้ทานคาร์บเพิ่มเด้อ เท่ากับว่ากลุ่มนี้จะกินสัดส่วนอาหาร คาร์บ 60% ไขมัน 30% และโปรตีน 10% ถ้าเทียบปริมาณโปรตีนกับน้ำหนักตัว ก็อยู่ที่ 0.8g/น้ำหนักตัว และเช่นกันครับ อาหารมีการเตรียมไว้ให้

การออกกำลังกาย... ห้ามออกกำลังกายนะครับ 27 วันนี่มีแค่กิจกรรมทั่วๆไปเท่านั้น หลังจากอยู่ในโรงพยาบาล 27 วันเรียบร้อยแล้ว ก็มีการติดตามผล 1 เดือนหลังจากนั้นอีกที

Charting Goals
Photo by Isaac Smith / Unsplash

แล้วดูผลลัพธ์ในด้านไหนบ้าง ?

ส่วนสิ่งที่เขาดูนะครับ ตัวหลักเลยคือเรื่องของ ผลเลือดครับ ระดับน้ำตาลในเลือด HbA1C กับความไวอินซูลิน ส่วนอื่นๆที่ดูก็จะเป็นระดับ lipid ต่างๆ คลอเลสเตอรอล, LDL, ไตรกีเซอร์ไรด์ น้ำตาล Fasting, Insulin fasting , CRP แล้วก็ น้ำหนักตัว ความดัน สัดส่วนมวลกาย การกระจายตัวไขมัน ค่า BMR และวิเคราะห์จุลินทรีย์ในท้อง ยีน และไขมันใต้ผิวหนัง รวมไปถึงพลังงานขณะพักด้วย

วิธีการตรวจประเมินแต่ละหัวข้อก็ได้มาตรฐานอยู่นะครับ เนื่องจากตรวจละเอียด ก็จะไม่เล่าถึงแต่ละรายการนะครับ ว่าตรวจยังไงบ้าง ไปลองอ่านกันดูเอาเองเลย

ผลที่ได้คือ ?

ทีนี้มาดูผลหลังจาก 27 วันผ่านไปครับ สิ่งที่เรารายงานมานี่มัน .. โว้ยอะไรกันวะเนี่ย น้ำหนักตัวก็ลดกันทั้งสองกลุ่มนะครับ กลุ่ม CR ดูจะลดได้เยอะกว่าหน่อย กลุ่ม PR ลดเยอะในคนที่น้ำหนักเริ่มต้นมาก พวกอยู่เกินร้อยโล นี่ลดเยอะทุกกลุ่มครับ พอดูในแง่ Body composition ลดไขมันได้ทั้งคู่ PR ดันรักษา FFM ไว้ได้ อันนี้แปลกดี ส่วนรูปร่าง CR ลดรอบเอวรอบสะโพกได้ดีกว่า

ลดน้ำหนักได้ทั้งสองกลุ่มนะครับ น้ำหนักเยอะก็ลดได้มาก PR ดูจะรักษา FFM ได้ดีกว่า

ค่าน้ำตาล Fasting , HbA1C , ความดัน LDL, ไตรกลีเซอไรด์ คอเรสเตอรอล ลดลงทั้งสองกลุ่ม ความไว Insulin ดีขึ้นทั้งสองกลุ่ม พวกจุลินทรีย์รายละเอียดเยอะ แต่ก็ไม่ค่อยต่างอะไรกันมาก Gene expression มีแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ดูมีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ

น้ำตาล Fasting , LDL ค่า ไตรกลีเซอไรด์ คอเรสเตอรอล ลดทั้งสองกลุ่ม ความไว Insulin ก็ดีขึ้นนะครับ

ส่วนพลังงานการเผาผลาญเนี่ย เฉลี่ยลดลงทั้งสองกลุ่ม แต่พลังงานขณะพัก PR ดูลดลงไม่มาก และดูเหมือนมีผลที่เพิ่มขึ้นด้วย Oxidation ต่างกันอยู่บ้างนิดหน่อย

ค่า Energy Expenditure ลดลงทั้งสองกลุ่ม เพราะน้ำหนักลดลงด้วยส่วนหนึ่ง

สรุป

ผลที่ได้คล้ายๆกันในหลายด้าน แต่ว่ากลุ่ม CR เนี่ยทานเฉลี่ย 1400 แคล ลดลงมาจากสมดุลย์ของตัวเอง 25% ก็คือกินน้อยลงอ่ะแหละ แต่ PR นี่ทานพลังงานสมดุลย์เท่าเดิม เฉลี่ย 2000 แคลต่อวัน แต่จัดสัดส่วนอาหารใหม่ ลดโปรตีนลง เพิ่มคาร์บ เอ้า น้ำหนักแม่งก็ลดได้เว้ยเฮ้ย แล้ว Fat Free Mass ที่วัดด้วย BIA ก็ไม่ได้ดูแย่

บ้าจริง นี่มันแทงสวนทั้ง Cal in cal out และ Carb Insulin Model เลยนี่นา กินพลังงานเท่าเดิม แถมกินคาร์บเพิ่มด้วย ทำไมลดได้ ไม่ใช่แค่ลดน้ำหนัก นี่มันลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยนะ เธอจะมาทำแบบนี้ไม่ได้นะ!!

แต่เอาจริงถ้าดูตามหลัก ผมว่าในกลุ่ม PR มันเกิด Cal deficit แหละ ไม่ใช่ Cal maintain หรอกสำหรับกลุ่ม PR เพราะฟีดแบคมันออกมา น้ำหนักก็ลดลง เพียงแต่ว่าแคลอรี่ของอาหาร กับแคลอรี่ของพลังงานที่เกิดขึ้นจริง มันต้องมีส่วนต่างอยู่

ภาพรวมของการศึกษางานนี้

ทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่านี่คือผลระยะไม่นานมากนะครับ 27 วันนี่เวลาแป๊บเดียว แล้วก็กลุ่มตัวอย่างก็ขนาดเล็ก กลุ่มละ 10 และ 11 คนเท่านั้น และมีเฉพาะกลุ่มที่มีภาวะ Metabolic syndrome เท่านั้นนะครับ

ผู้วิจัยเองก็ยังไม่ได้อภิปรายถึงว่าทำไมทานโปรตีนลดลงมันถึง ส่งผลแบบนี้ได้ทั้งๆที่ไม่ได้ลดแคลอรี่ แล้วทำไมกินคาร์บเพิ่มขึ้น แต่น้ำตาลในเลือดมันถึงออกมาเป็นแบบนี้ ก็คงต้องศึกษาในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น หรือในกลุ่มอื่นๆต่อไปดูกันอีกนะครับ

ก็แปลกดี เพราะตอนอ่านทีแรกหน้าสารพัดไดเอทด๊อก สารพัดหมา เอ้ย หมอทั้งหลาย ที่ทำคลิปตัดแป้ง ตัดคาร์บ อดอาหาร แล้วคนแชร์กันให้ว่อนซ้ำๆซากๆ นี่ลอยมาเลย เพราะนี่มันตรงข้ามกับที่เขาคอยพูดย้ำๆ ซ้ำๆ เหมือนกับอมอ๊วก Jason Fung, Gary Taubes มาพ่นเลย ๕๕๕๕

ก็น่าสนใจดีถ้ามีการศึกษาต่อไปอีก ว่าแนวทางนี้มันนำไปใช้ประโยชน์ยังไงได้บ้าง แต่อย่าพึ่งอะไรกับมันมากครับ เพราะยังมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นอยู่เต็มไปหมด :-)

อ้างอิง

  1. Ferraz-Bannitz R, Beraldo RA, Peluso AA, Dall M, Babaei P, Foglietti RC, Martins LM, Gomes PM, Marchini JS, Suen VMM, de Freitas LCC, Navegantes LC, Pretti MAM, Boroni M, Treebak JT, Mori MA, Foss MC, Foss-Freitas MC. Dietary Protein Restriction Improves Metabolic Dysfunction in Patients with Metabolic Syndrome in a Randomized, Controlled Trial. Nutrients. 2022; 14(13):2670. https://doi.org/10.3390/nu14132670

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK