รูป Before After สวยหรู โกหกหรือจกตา

โห คนนี้ลดได้มากจัง เขาทำได้ยังไง ? ผมทำได้คุณก็ต้องทำได้ มันจริงรึเปล่า ? รูป Before After เชื่อถือได้แค่ไหนกัน ?


รูป Before After สวยหรู โกหกหรือจกตา

วันก่อนผมเห็นโพสต์ของ Truman Vincent ในกลุ่ม Gym and Fitness by Maui Athletics [1] ข้อความที่เขาโพสต์ก็เล่าถึง ผู้หญิงคนนึง ซึ่งโพสต์เรื่องในโซเชียลมีเดียของเธออีกที (ซึ่งผมไม่รู้ที่มาที่ Vincent นำมาโพสต์ ผมจึงอ้างอิงไปถึงโพสต์ของ Vincent) ซึ่งรูปที่ผู้หญิงคนนี้โพสต์ ก็จะเป็นรูป before และ after ของเธอ ที่เวลาถ่ายห่างกันแค่ไม่กี่นาที บางรูปก็ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ แต่มันช่างดูแตกต่างกันเหมือนกับลดอย่างจริงจัง ปั้นหุ่นมาหลายเดือนหรือเป็นปีเลยทีเดียว

แต่จริงๆแล้ว มันคือรูปคนๆเดียวกัน ถ่ายห่างกันแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้นเอง ด้วยเทคนิคการเขม่วพุง การเกร็งกล้ามเนื้อ การจัด Poser ร่างกายให้ดูดี รวมถึงการจัดมุมกล้อง แสงตกกระทบ ก็ทำให้ดูแตกต่างได้แบบไม่น่าเชื่อ

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆมีคนไทยหลายคน ก็เคยทำ Content แบบนี้ให้เห็นกันมาแล้ว แต่สำหรับบางคนแม้กระทั่งทุกวันนี้ ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรื่องแบบนี้มีจริงๆ และก็ไม่ใช่น้อยด้วย นี่ยังไม่รวมไปถึงการใช้แอพ การใช้โปรแกรมแตกภาพต่างๆนาๆ อีกนะครับ

ตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ก็ลืมทุกทีจนไปเห็นโพสต์ของ Vincent นี่แหละ จึงนำมาโพสต์ไว้ให้เป็นบทบันทึกบนนึงในสังคมลดความอ้วนไทยบนอินเตอร์เน็ต เผื่อวันข้างหน้ามีใครมาเห็นแล้ว "ตาสว่าง" ได้เพิ่มมากขึ้นสักคนครึ่งคน ผมก็รู้สึกว่ามีประโยชน์เพียงพอแล้ว

แล้วเราควรจะเชื่ออะไรดี ?

ผมเองอยากแนะนำว่าคนที่ตั้งใจจะลดน้ำหนัก ลดความอ้วน เปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มือใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ยังไม่มีความรู้ คุณเลิกเห็นรูป before after แล้วถลาใส่เสียทีเถอะ เวลาเห็นเขาโพสต์ ก็รีบไปถามหาวิธี ถามหาเคล็ดลับกันแล้ว โอเค ทำตามแล้วได้ผลก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ผลมันก็เสียความรู้สึก เสียความตั้งใจนะครับ

จริงๆเรื่องการลดน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ถึงแม้หลักการพื้นฐานมันจะมีไม่มาก แต่การเดินไปถึงเป้าหมายในแต่ละคน อาจจะไม่สามารถใช้เส้นทางเส้นเดียวกัน เพื่อเดินไปยังที่เดียวกันได้นะครับ

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากๆ ก็คือ เรื่องของความรู้ในด้านต่างๆ ด้านโภชนาการ ด้านการออกกำลังกาย ด้านการดูแลสุขภาพ เอาแค่พื้นฐานของแต่ละเรื่องก่อน ตั้งหลักให้มั่น แล้วเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆก่อน เลิกคิดไปก่อนว่าเขาทำได้ฉันก็ต้องทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน เพราะปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันยังมีอีกมาก เรารู้ที่เขาเล่าให้ฟัง เล่าให้อ่านในข้อความไม่กี่บรรทัด จริงๆแล้วเขากินยังไง ออกกำลังกายยังไง เราก็ไม่อาจจะรู้ได้ชัดเจน 100% หรอกครับ

ในคนลดความอ้วนใหม่ๆ ลดไม่ยากหรอกครับ ยิ่งอ้วนเยอะยิ่งลดง่าย หลังจากนั้นสิของจริง มันจะยิ่งลดยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของการเผาผลาญปรับตัว (Metabolic Adaptation) ที่จะทำให้ลดน้ำหนักได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะทำให้เกิดน้ำหนักเด้งได้ในที่สุด [2] ทั้งเรื่องของของสภาพจิตใจที่ไดเอทมานาน ไดเอทหลายรอบ ลด ขึ้น ลด ขึ้น มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจจนอาจจะส่งผลต่อไปให้เกิดภาวะอื่นๆ ได้อีก [3]

ประสบการณ์จากคนอื่นจึงอาจจะใช้ไม่ได้กับเรา แต่ถ้าเรามีความรู้หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถแม้แต่จะออกแบบ หรือเลือกรูปแบบการทาน การออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับตัวเราเอง หน้าที่การงาน ชีวิตประจำวันของเราเองได้ ยากหน่อยแต่ถ้าเข้าใจทำได้แล้วจะดีกว่า เที่ยวไปไล่ถามหาวิธีเทพวิธีเทวดาจากคนอื่นมาลองไปเรื่อยๆ

แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ยังไงดี ?

การเข้ากลุ่มเพื่อหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยปรึกษาปัญหากันเป็นเรื่องที่ดี และอาจจะส่งผลให้เราสามารถลดความอ้วน ลดน้ำหนักได้ดีกว่าลุยไปคนเดียวไม่มีใครซัพพอร์ตเลย [4] แต่ก็นั่นแหละครับ ก็ต้องเลือกเชื่อ เลือกกลั่นกรอง การกลั่นกรองจะทำได้ง่ายขึ้น ถ้าเราเองมีความรู้พื้นฐานอยู่เป็นกำแพงบ้าง อย่าละเลยความรู้พื้นฐาน หลักการต่างๆ จากนั้นจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ เพื่อหาคนที่สนใจในเรื่องเหมือนเรา คนที่กำลังพยายามเหมือนเรา รวมกลุ่มให้กำลังใจให้ความรู้กัน ทำหลังจากที่เรามีความรู้อย่างน้อยๆก็ในเรื่องพื้นฐานแล้ว ก็ไม่ช้าไปหรอกครับ

อ้างอิง

  1. Vencent, T. [Truman Ifbb Pro Vincent]. (2022, June 20). This woman is great! She shows that a lot of these “perfect” physiques we see on social media, physiques we [Group Post]. Facebook. https://www.facebook.com/groups/MauiAthletics/posts/1516354542134108/
  2. Greenway F. L. (2015). Physiological adaptations to weight loss and factors favouring weight regain. International journal of obesity (2005), 39(8), 1188–1196. https://doi.org/10.1038/ijo.2015.59
  3. Quinn, D. M., Puhl, R. M., & Reinka, M. A. (2020). Trying again (and again): Weight cycling and depressive symptoms in U.S. adults. PloS one, 15(9), e0239004. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0239004
  4. Reading, J. M., Buhr, K. J., & Stuckey, H. L. (2019). Social Experiences of Adults Using Online Support Forums to Lose Weight: A Qualitative Content Analysis. Health education & behavior : the official publication of the Society for Public Health Education, 46(2_suppl), 129–133. https://doi.org/10.1177/1090198119859403

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK