งานนี้เป็นการศึกษาของ Inoue และคณะ (2022) ดูเรื่องของระดับน้ำตาลในกระแสเลือดหลังจากมื้ออาหารนะครับ โดยน่าสนใจจุดนึงก็คือเป็นการศึกษาทั้งในกลุ่มคนที่มีความทนต่อน้ำตาล (Glucose Tolerance) ปกติ และกลุ่มที่ความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง (Impaired) [1]

ก่อนหน้านี้ก็มีอยู่นะครับงานที่เขาศึกษาลักษณะคล้ายๆกันงี้ แต่บางงานเวลากินข้าวจะให้กินโปรตีนก่อนแล้วค่อยกินข้าวแล้วคุมน้ำตาลได้ผลดี ผมเคยนำเสนอไว้ในทวิตเตอร์
โค้ชโปรตีนเชคเฮเลยงานนี้ กินเวย์ก่อนกินอาหารในแต่ละมื้อ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้ดีขึ้นได้ด้วยแฮะ !!
— Fat Fighting (@FatFightingClub) May 31, 2022
งานนี้เป็นการศึกษาที่ทำในคนที่เป็นเบาหวานประเภทสองนะครับ เขาก็หาผู้ป่วยมาได้อายุระหว่าง 30-60 ปี เป็นเบาหวานมามากกว่า 1 ปี แล้วก็ได้รับการรักษาด้วยการให้ทานยามาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน pic.twitter.com/7H2W6yqfAt
ทดลองในคนกลุ่มไหน ?
ในงานนี้เขาก็ทดลองในคน 19 คนนะครับ 10 คนสุขภาพโอเค (อายุเฉลี่ย 24) อีก 9 คนนี่มีความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง (อายุเฉลี่ย 45) กลุ่มนี้สองคนรักษาเรื่องอินซูลินอยู่ เป็นการศึกษาในญี่ปุ่นนะครับ พูดถึงความเป็นเอเชีย ก็อาจจะมีความใกล้เคียงกันอะไรกับเราอยู่บ้าง ถ้าจะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์
ทดลองยังไงบ้าง ?
โดยการทดลองเป็นแบบ Randomize Crossover ก็แปลว่าในแต่ละคนจะให้ทำการทดลองสองครั้ง ครั้งนึงเนี่ยให้กินแอปเปิลก่อนกินข้าว (Apple-First) อีกครั้งให้ทานข้าวก่อนทานแอปเปิ้ล (Rice-First) ส่วนใครจะได้กินแบบไหนก่อนหลัง ก็สุ่มลำดับเอาครับ ในกลุ่มผู้หญิง ก็ไม่ให้ทำในช่วงรอบเดือน เพื่อตัดผลของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องไป
ระยะเวลาที่ห่างกันระหว่างทานอาหารสิ่งแรก กับทานสิ่งต่อมาห่างกัน 5 นาทีนะครับ ก็ไม่ได้นานเท่าไหร่ กินไปแล้วนั่งไถมือถือซักแป๊บก็ครบกำหนดแล้ว การทดลองทำในตอนเช้า มีการกำหนดว่าให้อดอาหารดื่มได้แต่น้ำมาตั้งแต่ 3 ทุ่มของวันก่อน เมื่อทานเข้าไปแล้วก็จะเก็บข้อมูลน้ำตาลช่วง 15, 30, 45, 60, 90, 120 และ 180 นาทีหลังจากทาน
แน่นอนว่าก่อนเริ่มทานเลยนาทีที่ 0 ก็มีการเก็บค่าน้ำตาลไว้เปรียบเทียบเช่นกัน ก็เป็นการออกแบบการทดลองที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนนะครับ นอกจากค่าน้ำตาลก็มีการดูค่าระดับอินซูลินด้วย
ในส่วนของอาหารที่ให้ทาน ข้าวที่ใช้เป็นข้าวแบบนึกง่ายๆก็ข้าวขาวใน 7-11 บ้านเราเงี๊ยะ เป็นข้าวแพคมาเป็นกล่อง ปริมาณ 148g (เป๊ะก็ 147.5g) ส่วนแอปเปิลก็เป็นตัดแต่งขนาดชิ้นละ 150 กรัม เขาบอกว่าใช้พวกของซื้อตามพวกนี้แหละ ข้อมูลสารอาหารก็จะได้จัดว่าถูกควบคุมมาแล้วโดยผู้ผลิต ซึ่งก็โอเค

ผลที่ได้คือ ?
มาดูผลที่ได้กันดีกว่าครับ ว่าได้ผลยังไงบ้าง ในกลุ่มคนที่ความทนน้ำตาลปกติ ตอนทานแอปเปิลก่อนข้าว ระดับน้ำตาล 30 นาทีแรกน้อยกว่า แต่พอหลังจาก 90 นาทีไปเนี่ยกลุ่มแอปเปิลก่อนน้ำตาลสูงกว่า (แต่ก็สูงกว่าในช่วงที่กราฟมันไม่ได้สูงพีคแล้วอ่ะนะ) ส่วนระดับอินซูลินกินแอปเปิลก่อน ต่ำกว่าแทบตลอด

ถ้ามาดูแบบปริมาณรวมพื้นที่ใต้กราฟ (Area under curve, AUC) น้ำตาลตอนกินแอปเปิลก่อนข้าว ช่วงแรกปริมาณน้อย แต่พอเวลาผ่านๆไป ปริมาณรวมก็สูสีกัน และปิดท้ายถ้าดูจนถึง 180 นาที แอบแซงวุ้ย ตรงกันข้ามกับอินซูลิน ตอนกินแอปเปิลก่อน น้อยกว่าตลอดกาล (ตลอดถึงแค่ 180 นาทีนั่นแหละ ๕๕)

ทั้งหมดนี้ในคนที่การทนน้ำตาลปกติเนี่ย ข้อมูลไม่มีนัยสำคัญเชิงสถิติเกิดขึ้นนะครับ แต่ก็พอให้เห็นภาพบางอย่างได้อยู่ ทีนี้มาดูในกลุ่มที่ความทนต่อน้ำตาลบกพร่องบ้าง ว่าจะเป็นยังไง

ในกลุ่มความทนน้ำตาลบกพร่อง ระดับน้ำตาล ทั้งแบบจุดและการดูแบบ AUC ตอนทานแอปเปิลก่อนทานข้าวเนี่ย ต่ำกว่าตอนทานข้าวก่อนแอปเปิลชัดเจน แถมยังมีบางช่วงที่มีนัยสำคัญทางสถิติให้เห็นด้วย ซึ่งก็คือช่วงพีค มันพีคน้อยกว่าชัดเจน และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึง 180 นาที น้ำตาลในกระแสเลือดก็น้อยกว่า (ถ้ายืดเวลาไปอาจจะจบที่เท่ากันได้ แต่ก็คงจะอีกนานพอสมควร)
สรุป
จากผลการศึกษานี้ก็พบว่าการทานแอปเปิลก่อนทานข้าว ไม่มากไม่มายก็ส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลและระดับอินซูลินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะการทนน้ำตาลบกพร่อง หรือกลุ่มเบาหวาน ที่สำคัญคือไอ้วิธีการนี้เนี่ย ผมก็มองว่ามันค่อนข้างง่ายในการปฎิบัตินะครับ นำไปลองทำดูได้เองง่ายๆเลย ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่ไม่ชอบทานแอปเปิลนะ ลองดู
อ้างอิง
- Inoue Y, Cormanes L, Yoshimura K, Sano A, Hori Y, Suzuki R, Kanamoto I. Effect of Apple Consumption on Postprandial Blood Glucose Levels in Normal Glucose Tolerance People versus Those with Impaired Glucose Tolerance. Foods. 2022; 11(12):1803. https://doi.org/10.3390/foods11121803