อ้วนเพราะหยุดกินไม่ได้ หรือหยุดกินไม่ได้เพราะอ้วนกันแน่ ?

พฤติกรรมการกิน ส่งผลต่อน้ำหนักตัว หรือน้ำหนักตัวส่งผลต่อพฤติกรรมการกินกันแน่


อ้วนเพราะหยุดกินไม่ได้ หรือหยุดกินไม่ได้เพราะอ้วนกันแน่ ?

งานเป็นการศึกษา Bjørklund และคณะ (2022) เรื่องพฤติกรรมการกินอาหาร และภาวะอ้วนในเด็กนะครับ เพื่อดูว่าจริงๆแล้ว พฤติกรรมการกินส่งผลต่อความอ้วน หรือความอ้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการกินกันแน่ (จริงๆเขามองถึงความผอมด้วยนะ)

เป็นการศึกษาในช่วงเติบโตจากเด็กจนถึงวัยรุ่น

จากข้อมูลของเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี จำนวน 802 คน เป็นการศึกษาแบบ Prospective on-going cohort study ในนอร์เวย์นะครับ ตอนแรกนั้นเขาเชิญเด็กมา 3,456 คน (เลขมันสวยจุงวุ้ย) จากนั้นก็คัดกรองกันไปเรื่อยๆ โดยใช้แบบประเมินจุดแข็งจุดอ่อน (Stregths and Difficulties Questionnaire) คัดเด็กไปเรื่อยๆ เก็บข้อมูลแต่ละช่วงวัยของเด็กไปเรื่อยๆ รายละเอียดวิธีการวิจัยของเขา ลองไปดูกันในงานได้นะครับ

ประเมินผลพฤติกรรมการทานอาหาร

ทีนี้เรื่องพฤติกรรมการทาน เขาใช้แบบประเมินพฤติกรรมการกิน (Children's Eating Behaviour Questionnaire , CEBQ) แน่นอนว่าคนประเมินไม่ใช่ตัวเด็กแต่เป็นผู้ปกครอง โดยเขาก็ดูในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การตอบสนองต่ออาหาร (Food Responsiveness)
  • ความเพลิดเพลินต่ออาหาร (Enjoyment of Food)
  • การทานที่มากเกินไปด้วยอารมณ์ (Emotional Overeating)
  • การทานน้อยเกินไปด้วยอารมณ์ (Emotional undereating)
  • การตอบสนองต่อความอิ่ม (Satiety Responsiveness)
  • การกินช้า (Slowness in Eating)
  • ความกินยาก (Food Fussiness)

พวกแบบสอบถามพวกนี้ ก็มีแบบของคนไทยศึกษาใช้กันอยู่เหมือนกันนะครับ ยกตัวอย่างเช่น แบบประเมินจุดแข็งจุดอ่อน ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ส่วนแบบประเมินพฤติกรรมการกินนั้น จะพบในงานวิจัยต่างๆ

Body Weight Scale
Photo by Samuel Ramos / Unsplash

เก็บข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูง

และมีการเก็บน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อคิดเป็นข้อมูล BMI ของเด็กแต่ละคน ในช่วงอายุ 6, 8, 10, 12 และ 14 ปีเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดูว่าพฤติกรรมการกินที่เป็นอยู่ และที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงนั้น สามารถที่จะคาดการณ์ได้หรือไม่ ว่าเด็กจะอ้วนขึ้นหรือผอมลง

ผลที่ได้จากการวิเคราะห์คือ

ซึ่งเขาคาดว่าพฤติกรรมการกินจะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อ BMI ของเด็กให้เปลี่ยนไป ปรากฎว่าหลังจากวิเคราะห์ข้อมูลออกมาแล้ว เขาพบว่ามันตรงข้ามกับสิ่งที่เขาคิด พฤติกรรมการกิน ไม่ได้ส่งผลให้สามารถคาดเดา BMI ของเด็กได้ว่าจะสูงขึ้นหรือลดลง (อ้วนหรือผอมนั่นแหละ)

ในทางตรงกันข้ามกลับมีความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของ BMI ที่ไปส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน เขามองว่าในช่วงที่เด็กมีความอยากทานเพิ่มขึ้นในวัยนี้ ส่วนนึงเป็นเพราะความต้องการของร่างกาย ที่ต้องเติบโต และมีความต้องการพลังงานสำหรับกิจกรรมต่างๆ (ไม่ใช่กินพอแล้วแต่อยากกินเยอะจนนำไปสู่ภาวะอ้วนเพียงอย่างเดียว)

ในอีกทางนึงทำไม BMI ถึงส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน อันนี้ในงานเขาก็วิเคราะห์ความเป็นไปได้ไว้จากแนวคิดต่างๆ เช่นเรื่องของ weight set point เรื่องของ Homeostasis เรื่องของ leptin อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ให้ข้อสรุปไว้นะครับว่ามาจากอะไรกันแน่ ต้องศึกษาต่อไป

นอกจากนี้เขาก็อ้างถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าการลดน้ำหนักลดความอ้วนของเด็กในวัยนนี้ ที่เป็นการปรับพฤติกรรมการทาน มันไม่ค่อยได้ผล เพราะพฤติกรรมการทานที่เปลี่ยนไปของเด็กวัยนี้อาจจะไม่ใช่สาเหตุ การปรับพฤติกรรมการทานอาจจะได้ผลกับเด็กวัยอื่น เช่นวัยต่ำกว่า 6 ขวบ คนที่มีภาวะอ้วนแล้ว หรือกลุ่มที่มีพันธุกรรมเสี่ยงมากกว่า (เช่นยีนกลุ่ม FTO บางตัวที่ส่งผลต่อการกินเยอะ)

เพิ่มเติม : ยีนอ้วน (FTO Gene)

เรื่องยีนอ้วน FTO มันทำให้เราอ้วนได้ยังไงผมเคยโพสต์ไว้ในเพจ https://www.facebook.com/FatFightingChannel/posts/3977018485748114
แล้วก็อีกเรื่องนึง ว่ายีนอ้วนมันทำให้เราลดความอ้วนได้ยากกว่าจริงรึเปล่า
https://www.facebook.com/FatFightingChannel/posts/3985173411599288
ใครสนใจลองไปอ่านกันดูได้นะครับ

The Face of Content
Photo by Austin Pacheco / Unsplash

สรุป

ใครที่ต้องดูแลน้องๆ ลูกๆ หรือหลานๆ ในช่วงวัยเด็กกำลังจะเข้าไปสู่ช่วงวัยรุ่น ก็ลองนำไปนึกต่อกันดูนะครับ พฤติกรรมการทานบางอย่างที่เปลี่ยนไปในช่วงนี้ อาจจะมาจากความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่มันเกิดขึ้นแล้ว บางคนที่มีภาวะอ้วน การมองว่าเขาอ้วนเพราะกินเยอะอย่างเดียว แล้วคอยพูดจาแดกดัน หวังให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม อาจจะไม่ใช่ทางออกเสมอไป

ถ้าเป็นอย่างที่เรากล่าวถึงกันไปข้างต้นในงานนี้แล้ว อาจจะต้องลองหาแนวทางอื่นมาชวนเขาลดน้ำหนัก ลดความอ้วนเพื่อปรับสมดุลย์ร่างกายก่อน จากนั้นพฤติกรรมการกินเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เอง

เรื่องพวกนี้ บางทีอาจจะต่อจิ๊กซอบางอย่างที่เรากำลังหาทางออกไม่ได้ให้เต็มขึ้นมาบ้างก็ได้ บางครั้งความเข้าใจที่มีต่อพวกเขามากขึ้น ก็อาจจะส่งผลบวก และให้ผลดีในสิ่งที่เราคาดหวังได้ครับ

อ้างอิง

  1. Bjørklund, O., Wichstrøm, L., Llewellyn, C., & Steinsbekk, S. (2022). The prospective relation between eating behaviors and BMI from middle childhood to adolescence: A 5-wave community study. Preventive Medicine Reports, 27, 101795. https://doi.org/10.1016/j.pmedr.2022.101795

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK