ค่า BMI ใช้ไม่ได้กับนักกีฬา คนออกกำลังกายจริงรึเปล่า ? BMI สูง แปลว่าอ้วนจริงหรือไม่ ?

BMI เกินเกณฑ์ จำเป็นต้องเป็นคนอ้วนเสมอไปรึเปล่า หมอเงยหน้ามองผมก่อนมั้ย ผมเล่นกล้ามมานะหมอออออ


ค่า BMI ใช้ไม่ได้กับนักกีฬา คนออกกำลังกายจริงรึเปล่า ? BMI สูง แปลว่าอ้วนจริงหรือไม่ ?

เรื่องค่า BMI นี่เคยเขียนถึงไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนนะครับ ซึ่งก็ผ่านไปพอสมควรแล้ว ก็มาอัพเดตกันอีกทีดีกว่า เนื้อหาหลักๆ ก็คงไม่ต่างจากที่เคยเขียนไปแล้วนะครับ ครั้งนี้ก็จะมาคุยเพิ่มเติมอีกนิดนึง โดยว่าถึงเรื่องของคนที่ BMI เกินเกณฑ์เป็นหลักนะครับ

ค่า BMI คืออะไร

BMI ย่อมาจาก Body Mass Index ภาษาไทยเรียกว่าดัชนีมวลกาย มาจากสูตรคำนวณ โดยนำค่าความสูง (หน่วยเป็นเมตร) และน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) มาคำนวณตามสูตร

BMI = น้ำหนัก (kg) / ส่วนสูง^2 (m)

การนำไปใช้

ค่า BMI ถูกนำไปใช้ในงานวิจัย ในด้านต่างๆ อย่างแพร่หลาย เรื่องจากเป็นดัชนีที่ใช้งานง่าย และสะดวก เมื่อมีการศึกษาต่างๆ ด้านสุขภาพ เพื่อหาความสัมพันธ์กับค่า BMI เพิ่มขึ้น จึงมีการนำเอาค่า BMI มาใช้ประเมินภาวะสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะผอมเกินไป อ้วนเกินไป [1] รายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับ BMI ในเบื้องต้น คลิกไปดูกันได้ในบทความเก่าเรื่อง ค่า BMI คืออะไร ? ค่านี้มันน่าเชื่อถือแค่ไหน ? กันได้เลย

แต่ BMI ก็ยังมีข้อจำกัด

ในกลุ่มคนที่เป็นนักกีฬา ที่มีลักษณะมีมวลกายที่เป็นกล้ามเนื้อมากๆ เช่นนักกีฬาเพาะกาย ยกน้ำหนัก หลายๆคนมักจะเคยเจอปรากฎการณ์ที่ไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วหมอดูน้ำหนักและส่วนสูง พร้อมทั้งบอกว่า "ลดความอ้วนบ้างนะ" ก่อนที่หมอจะเงยหน้าขึ้นมาดูรูปร่างของพวกเขาเสียอีก จนกลายเป็นมุกที่นักกล้าม หรือคนเล่นเวททั้งหลายมักจะนำมาคุยล้อกันอยู่เป็นประจำ

flexing at the gym
Photo by Nigel Msipa / Unsplash

ตัวอย่าง

นักกีฬาเพาะกายที่ไม่ใช่ระดับ Elite ในช่วงแข่งขัน (ซึ่งเป็นช่วงที่เขาลีนและรีดไขมันและน้ำส่วนเกินสุดๆเรียบร้อยแล้ว) มีส่วนสูงเฉลี่ย 174.4 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 80.3 กก.   (Fry และคณะ ,1991) [2] จากข้อมูลนี้ เมื่อคำนวณ BMI ออกมาจะเท่ากับ 26.4 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน (Overweight) นะครับ แต่ในความเป็นจริง คนกลุ่มนี้ สัดส่วนไขมันของร่างกาย %body fat อยู่ที่ราวๆ 9% เท่านั้นเอง

ดังนั้น ถ้าหากเป็นพวกนักกีฬา หรือคนที่เล่นกีฬา ฝึกฝนร่างกาย มีกล้ามเนื้อเยอะๆ น้ำหนักที่เกินจริงๆอาจจะไม่ได้อ้วนนะครับ

แล้วมันเป็นแบบนี้ทุกกีฬารึเปล่า ?

แต่ก็ไม่ใช่ว่านักกีฬากล้ามเนื้อแข็งแรงๆ ทุกประเภทจะต้อง BMI เกินเกณฑ์นะครับ ยกตัวอย่าง นักกีฬาหญิงไตรกีฬาจำนวน 16 คน มีส่วนสูงเฉลี่ย 162.1 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 55.2 กก. [3]  จากการข้อมูลนี้ เมื่อคำนวณ BMI ออกมา นักกีฬากลุ่มนี้มี BMI เท่ากับ 21 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี (Healthy weight)

หรืออย่างนักกีฬายิมนาสติกหญิง ที่แข่งขันใน World Championship Artistic Gymnastics ครั้งที่ 24 ในปี 1987 สำหรับนักกีฬาอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนสูงเฉลี่ย 153.1 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 44 กก. [4] ซึ่งจากข้อมูลนี้ เมื่อคำนวณ BMI ออกมา เราก็จะพบว่านักกีฬากลุ่มนี้ มี BMI เท่ากับ 18.8 ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี (Healthy weight) เช่นเดียวกัน

หรือแม้แต่ย้อนกลับไปที่กีฬาเพาะกายที่กล้ามเนื้อนักกีฬาหนาแน่นปั่กกันอย่างที่เราเห็น ในหลายรุ่นหลาย Class อย่างเช่นกลุ่ม แอธเลติคฟิสิค ที่กติกากำหนดไว้ให้น้ำหนักตัวไม่เกิน ส่วนสูง - 100 ก็จำกัดให้ BMI ของนักกีฬาไม่เกิน 25 ไปโดยปริยาย (คิดจากคนที่สูงสุดที่ 190 ซม.)   [5] กลุ่มที่ BMI อาจจะเกินเกณฑ์ได้ มักจะเป็นรุ่นที่ไม่ได้กำหนดน้ำหนัก หรือไม่ได้กำหนดส่วนสูง เช่น รุ่นทั่วไป จะกำหนดเกณฑ์น้ำหนัก เช่น 60 70 80 90 ดังนั้นเมื่อมองในมุมนี้ คนที่ส่วนสูงน้อยกว่าในแต่ละเกณฑ์น้ำหนัก จะค่อนข้างได้เปรียบกว่าในแง่ของมวลกล้ามเนื้อที่มองเห็น ในรุ่นดังกล่าวมีโอกาสที่จะพบนักกีฬาที่ค่า BMI เกินเกณฑ์ได้

แล้วตัวเราเป็นใคร ?

อย่างที่บอกว่าข้อมูลรูปร่าง ส่วนสูง น้ำหนัก และ BMI ข้างต้นนำมาจากข้อมูลการศึกษา ในกลุ่มนักกีฬา ซึ่งบางคนอาจจะพบว่าฉันมี BMI เกินเกณฑ์ แล้วจริงๆ ฉันอ้วนรึเปล่า ทีนี้ก่อนที่เราจะไปเถียงกับหมอหรือใครๆ ก็ต้องย้อนกลับไปดูก่อนนะครับ เราเป็นกลุ่มประชากรกลุ่มใกล้เคียงกับเขาไหม ไม่ต้องถึงกับเป็นระดับนักกีฬาจริงจังหรอก แต่อาจจะฝึกซ้อมอยู่บ้าง

ก็ต้องดูว่าเอาจริงๆแล้ว รูปร่างของเราเท่าที่เห็นและเป็นอยู่เนี่ย มันเป็นแบบไหน เรามีไขมันสะสมอยู่มากหรือน้อย บางคนหุ่นหมีกล้ามเนื้อเยอะ โอเค แต่บางคนก็อาจจะดูตัวใหญ่ แต่ก็มีไขมันสะสมอยู่มากจนอยู่ในเกณฑ์อ้วนได้จริงๆ อันนี้ก็ไม่แย่นะครับ ถ้าเราจะตั้งเป้าลดไขมันส่วนเกินนั้นออกไปให้ได้

Photo by Luis Santoyo / Unsplash

ฉันอ้วนแต่ฉันสุขภาพดี

ในนิยามของคำว่า อ้วนสุขภาพดี (Healthy Obesity) นี่เป็นคำๆนึงนะครับ ที่ก็มีงานวิจัยเขาพบว่าในกลุ่มคนที่อ้วนสุขภาพดีเนี่ย ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่นเบาหวาน โรคหัวใจ มันก็เสี่ยงนะครับ การใช้คำว่าอ้วนสุขภาพดี ไปๆมาๆ อาจจะทำให้คนอ้วนคนนั้นเข้าใจผิด ไปได้ว่าความอ้วนของตัวเองไม่เสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆได้ [6]

ก็อย่าพึ่งชะล่าใจนะครับ ยังไงก็ตามถ้าน้ำหนักตัวเราออกมาเกินเกณฑ์ เราก็ควรไปพิจารณาในดัชนีอื่นๆต่อไปอีกนะครับ ว่าเรามีความเสี่ยงอยู่มากน้อยเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก หรือ WHR (Waist-to-hip Ratio) สัดส่วนร้อยละของไขมันในร่างกาย  หรือพวกค่าเลือด ค่าน้ำตาล Lipid ความดัน ค่าตับไตไส้พุงอื่นๆ ว่ามีความเสี่ยงน่ากังวลอะไรในจุดไหนอยู่รึเปล่า อย่าลืมนะครับ เรื่องพวกนี้ รู้ก่อนแก้ไขทัน

อ้างอิง

  1. Weir, C. B., & Jan, A. (2021). BMI Classification Percentile And Cut Off Points. In StatPearls. StatPearls Publishing. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31082114/
  2. Fry, A. C., Ryan, A. J., Schwab, R. J., Powell, D. R., & Kraemer, W. J. (1991). Anthropometric characteristics as discriminators of body-building success. Journal of sports sciences, 9(1), 23–32. https://doi.org/10.1080/02640419108729852
  3. Leake, C. N., & Carter, J. E. (1991). Comparison of body composition and somatotype of trained female triathletes. Journal of sports sciences, 9(2), 125–135. https://doi.org/10.1080/02640419108729874
  4. Claessens, A. L., Malina, R. M., Lefevre, J., Beunen, G., Stijnen, V., Maes, H., & Veer, F. M. (1992). Growth and menarcheal status of elite female gymnasts. Medicine and science in sports and exercise, 24(7), 755–763. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1501559/
  5. ระเบียบการแข่งขันกีฬาเพาะกายกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43. สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิสเนสแห่งประเทศไทย (2557).
  6. Zhou, Z., Macpherson, J., Gray, S.R. et al. Are people with metabolically healthy obesity really healthy? A prospective cohort study of 381,363 UK Biobank participants. Diabetologia 64, 1963–1972 (2021). https://doi.org/10.1007/s00125-021-05484-6

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK