คนที่ออกกำลังกาย ทาน Low carb มีอะไร(ที่น่าใส่ใจ) มากกว่าที่คุณคิด

ในกลุ่มคนที่เป็นนักกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายมากๆ การทานสัดส่วนโภชนาการแบบคาร์บต่ำ หรือ Low carb อาจมีผลกระทบที่คาดไม่ถึงนะครับ


คนที่ออกกำลังกาย ทาน Low carb มีอะไร(ที่น่าใส่ใจ) มากกว่าที่คุณคิด

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาของ Fensham และคณะ (2022) [1] เขาศึกษาผลของการทานแบบ Low Energy และ Low carbrohydrate (ภาษาในงานวิจัยเขาเรียกว่า Carbohydrate restriction) ว่ามันส่งผลยังไงกับกระบวนการสร้างกระดูก ในช่วงพักและช่วงออกกำลังกายบ้างนะครับ

Fensham และคณะ (2022)

ในคนที่ออกกำลังกายเนี่ย ถ้าได้รับพลังงานไม่เพียงพอ มันจะมีผลกับการสลายกระดูก และพบว่าตัวบ่งชี้การสร้างกระดูกมันลดลง ยิ่งออกกำลังกายนั้นๆใช้เวลานานก็ยิ่งมีผลมาก แต่ว่ามันยังไม่มีการศึกษาแตกย่อยลงไปว่า ไอ้การได้รับพลังงานไม่เพียงพอนั้นในระดับของสารอาหาร ว่าง่ายๆคือการได้รับคาร์บไม่พอเนี่ยมีผลยังไงบ้าง

เผื่อจะนึกภาพไม่ออกคือเราอาจจะทานพลังงานลดลงเหลือวันละ 1200 แคล แต่คนที่ทานคาร์บ 55% กับ 25% จาก 1200 เนี่ย ปริมาณคาร์บมันก็จะมีความแตกต่างกัน เขาจะดูว่ามันส่งผลยังไงบ้างจากตรงนั้น

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

การศึกษาทำในกลุ่มนักกีฬาเดินเร็วระดับ elite 28 คน เพศชาย สุขภาพดีแข็งแรงปกติ ไม่มีการใช้ยา สารกระตุ้น หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารระหว่างการวิจัย ไม่มีเรื่องกระดูกร้าวแตกหักอะไรก่อนหน้าวิจัยไปอย่างน้อย 3 เดือน  อายุระหว่าง 21-33 ปี (เฉลี่ย 28 ปี) น้ำหนักตัวเฉลี่ย 66kg ก่อนเริ่มก็มีการเก็บข้อมูลตามระเบียบ

ศึกษายังไง ?

จากนั้นให้แบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม แล้วก็มาเข้าแคมป์ฝึกซ้อม 2 ช่วง ช่วงละ 6 วัน ในช่วงแรกเนี่ย ทุกคนจะให้ทานคาร์บสูง 65% ของพลังงานอาหาร และให้ได้รับพลังงานอาหารเพียงพอกับการซ้อม (High energy availability) โดยคิดจากมวลกายไม่รวมไขมันอยู่ที่ >40kcal ต่อน้ำหนัก FFM 1kg อันนี้ช่วงแรกจะทานเหมือนกันหมด

พอช่วงสองที่แบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแรกกลุ่มควบคุม ทานต่อไปเหมือนเดิม กลุ่มนี้ 10 คน (CON) กลุ่มต่อมา Low carbohydrate/high fat/high energy availability (LCHF) ทานคาร์บวันละไม่เกิน 50g กลุ่มนี้ 8 คน อีกกลุ่มคือให้ทาน low energy availability (LEA) ทานพลังงานที่ประมาณ 15kcal ต่อ FFM 1kg สัดส่วนอาหารเหมือน CON กลุ่มนี้ 10 คน

รูปแบบการวิจัย

อาหารการกินมีการจัดให้ทุกมื้อนะครับ มีนักกำหนดอาหารการกีฬา นักโภชนาการ และพ่อครัว มารับรองความถูกต้องของข้อมูลการทาน การหาค่าการเผาผลาญของแต่ละคนใช้วิธีวิเคราะห์อากาศที่หายใจเข้าออก รายละเอียดการซ้อมการวัดผลต่างๆ ในงานมีให้อ่านเพิ่มเติมนะครับ มาถึงตรงนี้เดี๋ยวเรามาดูผลที่ได้กันดีกว่า

ข้อมูลโภชนาการอาหารของแต่ละกลุ่ม ในแต่ละช่วง

ผลที่ได้คือ ?

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลออกมาแล้วเขาก็พบว่า การจำกัดปริมาณคาร์บ (LCHF) (ที่เขาให้ทานในงานนี้เหมือนการทาน Keto ที่เราๆทั้งหลายทานกันอยู่นั่นแหละครับ) มีผลทำให้ตัวบ่งชี้กระบวนการสร้างมวลกระดูกลดลง ทั้งตอนที่พักและตอนออกกำลังกาย โดยที่เมื่อมีการออกกำลังกาย จะมีการสลายมวลกระดูกที่เพิ่มมากขึ้น

ผลบางส่วนที่พบในงานนี้

ในขณะที่การได้รับพลังงานไม่เพียงพอ (LEA) นั้นตัวบ่งชี้การสร้างกระดูกไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่การสลายมวลกระดูกเพิ่มขึ้นเหมือนกัน ส่วนทาน LCHF นั้นคือแย่ทั้งสร้างและสลาย ภาพรวมคือทั้งการได้รับพลังงานไม่เพียงพอ และทาน LCHF นั้น ทำให้เมตาบอลิซึมเสียสมดุลย์ เป็นผลจาก osteocalcin ซึ่งเป็นโปรตีนที่ควบคุมระดับสมดุลพลังงาน

ในทางตรงข้ามกับการทานที่ได้รับพลังงาน และคาร์บเพียงพอ จะทำให้การเผาผลาญ หรือเมตาบอลิซึมมีความสมดุลย์ดีกว่า ทั้งนี้ระยะเวลาในงานวิจัยครั้งนี้เป็นระยะเวลาสั้นๆนะครับ ยังไม่รู้ว่ากรณีที่ทานแต่ละแบบไปยาวๆ จะเป็นยังไบ้าง เป็นการศึกษาดูการสลาย และข้อบ่งชี้การสร้างมวลกระดูกเท่านั้น การวัดผลมวลกระดูก ความแข็งแรงกระดูก จริงๆยังต้องศึกษาต่อไปอีก

สรุป

ในทางปฎิบัติ สำหรับนักกีฬาถ้าไม่ใช่ช่วงที่เราจะ Diet ควบคุมน้ำหนัก ก็ควรทานอาหารให้ได้รับพลังงาน และสารอาหารที่มันเพียงพอ ส่งเสริมต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ (Performance) ให้เป็นปกติไว้นั่นแหละครับ อย่างน้อยช่วงเวลาปกติ ได้เสริมสร้างไว้แล้ว ในช่วง Diet มันจะต้องมีอะไรที่เสียไปบ้าง จะได้ไม่แย่มาก มวลกระดูกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักกีฬา ไม่แพ้เรื่องอื่นๆ

ในคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ควรทานให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำด้วยเช่นกัน บางทีเราไม่ได้สนใจกับทุกๆเรื่อง อาจจะสนใจแต่กลัวอ้วน กลัวอ้วน บางคนนี่ห่างไกลคำว่าอ้วนหลายขุมแล้ว ก็ยังกังวลอยู่จนแทบจะเป็นโรคประสาท สุขภาพดี อย่าไปกินแบบคนป่วย คนป่วยจริงๆหลักโภชนบำบัด ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทานเหมือนหมอสอนลดความอ้วนเน็ตไอดอลเขาบอก

อ้างอิง

  1. Fensham, N. C., Heikura, I. A., McKay, A., Tee, N., Ackerman, K. E., & Burke, L. M. (2022). Short-term carbohydrate restriction impairs bone formation at rest and during prolonged exercise to a greater degree than low energy availability. Journal of bone and mineral research : the official journal of the American Society for Bone and Mineral Research, 10.1002/jbmr.4658. Advance online publication. https://doi.org/10.1002/jbmr.4658

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK