อัพเดตงานวิจัยเผย พรุน ช่วยลดการอักเสพ ลดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจ

เขาว่าพรุนนั้นดีมีประโยชน์ ทานแล้วลดการอักเสบ แถมยังลดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจอีกด้วย เอ๊ะมันจริงรึเปล่านะ ...


อัพเดตงานวิจัยเผย พรุน ช่วยลดการอักเสพ ลดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจ


ผมพึ่งอ่านอีเมล์จดหมายข่าวที่ Examine ซึ่งเป็นเว็บรวมเนื้อหาเกี่ยวกับงานวิจัยด้านโภชนาการและอาหารเสริม ที่ก็จัดว่ามีเนื้อหาน่าสนใจและทำได้ดีมากเว็บนึงส่งมาเมื่อเช้านี้

ถ้าผมพาดหัวข่าวกันแบบนี้ มั่นใจเลยครับว่าต้องมีหลายท่านเริ่มสนใจจะไถอ่านต่อแล้วละเนาะ มันยังไงซิ มันลดการอักเสบจริงมั้ย บางท่านอาจจะหยิบมือถือมากดสั่งซื้อเดี๋ยวเอามากินแม่งทุกวันแล้ว

Fresh bio plum, prune, gage
Photo by Markus Spiske / Unsplash

ทำไมอยู่ๆพรุนมาเป็นกระแส

เอาจริงๆที่ผมสงสัยกับเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมเห็นสมาชิกสามสี่ท่านมาถามผมถึงเรื่องนี้ ตามประสาคนที่ศึกษาด้าน Social network engineering มาบ้างแม้เพียงผิวๆ มันก็พอสัมผัสได้ ว่าต้องมีการเผยแพร่เนื้อหาอะไรที่เป็นกระแสกันออกมาแน่ๆ แล้วก็ลองไปค้นเปิดอ่านเมล์ของสำนักต่างๆที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ก็พบว่าอั่นแน่ มีจริงๆ โอเค ก็เล่าให้พอเห็นที่มาที่ไป ท่านจะได้เท่าทันกันในเรื่องข่าวนะครับ ว่ามันก็ประมาณนี้แหละ มีงานออกมา สื่อฝรั่งนำเสนอ สื่อไทยนำเสนอตาม อันนี้ปกติ

ลองไปหางานวิจัยต้นฉบับอ่านดูหน่อย

ทีนี้ผมลองไปอ่านต่อที่ต้นเรื่องงานวิจัยชิ้นนี้ต่อนะครับ https://doi.org/10.1089/jmf.2020.0142 ก็พบว่าเป็นการทดลองงานนึง ที่เขาทำเป็น RCT ( randomized controlled trial ) ทำในกลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือน อายุช่วง 65-79 ทำการทดลองระยะเวลา 6 เดือน เพื่อหาผลของพรุน กับสุขภาพของกระดูก โดยให้ทานพรุนวันละ 0 , 50 และ 100 กรัมต่อวัน จากนั้นก็ดูผลเทียบระหว่างก่อนทดลอง และเมื่อผ่านไป 6 เดือน เพื่อดูว่าตัวบ่งชี้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผลที่ได้พบว่า ในกลุ่มที่ทานวันละ 100 กรัม ระดับคลอเลสเตอรอลรวมลดลง ในกลุ่มที่ทานพรุนทั้ง 50 และ 100 กรัมต่อวัน พบว่ามีเอนไซน์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ทานวันละ 50 กรัม มีตัวบ่งชี้การอักเสบ และเอนไซน์ที่เกี่ยวกับการทำงานของไตดีขึ้น ตัวบ่งขี้การความเสียหายต่อกล้ามเนื้อลดลง ภาพรวมการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ดูเป็นข้อดีทั้งนั้นนะครับ เอาละครับ ใครจะแห่กดซื้อมาทานทุกวันรีบกดเลย

Lost in Library
Photo by Becca Tapert / Unsplash

PICO Analysis

แต่ที่จะเพิ่มเติมให้อีกนิดนะครับ เกี่ยวกับการอ่านงานวิจัย นั่นคือหลัก PICO อันนี้ลองไปค้นดูใน Google อ่านเพิ่มเติมเองเนาะ ผมคร่าวๆไว้ก่อน ว่า ...

P (Population)

ด้าน P ในงานนี้คือกลุ่มประชากร ( population ) ของงานชิ้นนี้เนี่ยคือ กลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนอายุระหว่าง 65-79 ... ก่อนจะกดสั่งซื้อมาซักลัง ลองดูก่อนว่าเราใช่วัยนี้มั้ย ? ไม่ใช่ว่าผมจะบอกว่าวัยอื่นไม่ได้ผล แต่มันไม่ได้ทดลองในงานนี้ ดังนั้นในกลุ่มวัยรุ่น วัยเริ่มทำงาน ก็อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ ก็ควรหางานอื่นที่ P มันตรงกับเราหรือคนที่เราห่วงใย ศึกษาต่อด้วย ในกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ก็อาจจะให้ผลที่แตกต่างกันได้นะครับ

I (Intervention)

ส่วน I ( intervention ) ของเขาคืออะไร คือการทานพรุนทุกวัน คำถามคือ เรารู้หรือยังว่าพรุนที่เขาทานนอกจากปริมาณกรัมที่ข่าวบอก เป็นพรุนแบบไหน สด แห้ง ฟรีซดราย บลาบลาบลา แล้วมันใช่ที่เราจะกดสั่งซื้อมาโบกเพราะคิดว่าดีมั้ย ? ยังมีคำถามอีกมากที่ควรไปศึกษาต่อ

C (Comparision)

และ C ( comparison ) อันนี้มีการจัดกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบในงานด้วย ถือว่าจัดการศึกษาได้ค่อนข้างดี แต่ในมุมของเราการเปรียบเทียบของเขามันใช่หรือยังที่เราจะนำไปปฎิบัติต่อ อันนี้ฝากไว้ดูด้วยนะครับ เดี๋ยว I กับ C จะเขียนถึงช่วงหลังอีกที

O (Outcome)

มาว่ากันที่ O ( outcome ) คือผลลัพธ์ของงาน เขาพบว่าอะไร .. เขาพบว่ามันช่วยในประเด็นไหน แล้วผลนั้นๆ เอาจริงๆแล้วมันยังไงกับเราบ้าง อันนี้ก็ต้องไปศึกษาต่อ ลดการอักเสบ อักเสบอะไร marker ตัวไหนที่เขาศึกษา แล้วไอ้ตัวนั้นมันมีผลกับอะไร และอะไรมีผลต่อ marker ตัวนั้นบ้าง

เอ้า ไปๆมาๆ พิมพ์เรื่อง PICO ซะยาวเลย บางทานอาจจะบอกว่า โหย ต้องเยอะขนาดนั้นเลยเหรอ เอาจริงๆ ถ้าจะดูงานวิจัย มันก็ต้องอ่านงานวิจัยออกด้วยนะครับ มันมีความต่างของมันอยู่ระหว่างการอ่านภาษาอังกฤษออก กับการอ่านงานวิจัยออก ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วเราอาจจะไม่จำเป็นต้องอ่านงานวิจัยกันเป็นทุกคน แต่ผมก็อยากให้เราเท่าทัน ไม่ใช่เห็นผมจั่วหัวมาว่างานวิจัยบอกว่า แล้วเราก็เชื่อตามผมทันที อันนั้นก็ไม่ใช่ดีเสียทีเดียวนะครับ ถึงแม้ผมจะมีวิจารณญาณประมาณนึง ผมก็มีอคติของผมเองต่อการอ่านงาน การตีความของผมด้วย ดังนั้นนะครับ ไม่ใช่เขาอ้างงานวิจัย แล้วทุกอย่างคือจบนะครับ ยิ่งอ้างงานวิจัย เรายิ่งควรดูต่อไปว่างานที่เขาอ้างมานั้นมีรายละเอียดยังไงด้วย 😎

เอาละว่ามายาวแล้ว ทีนี้ก็ขอพูดในแง่ที่น่าจะเข้าใจและนำไปปฎิบัติกันด้วย อย่างที่บอก อย่าพึ่งสรุปตามผมพาดหัวไว้ว่ากินพรุนแล้วมันโอเค พรุนคือ Magic คือ Super food เพราะอะไร...

Fresh bio plum prune. Made with Leica R7 (Year: 1994) and Leica Summicron-R 2.0 35mm (Year: 1978). Analog scan via meinfilmlab.de: Fuji Frontier SP-3000. Film reel: Kodak Pro Image 100
Photo by Markus Spiske / Unsplash

เราชอบทานมันรึเปล่า ?

เอาจริงๆก่อนจะไปตะบี้ตะบันทานมัน เพราะเขาบอกว่ามันดี มันมีประโยชน์ เราควรถามตัวเราเองก่อนนะ ว่าเราชอบมันจริงๆรึเปล่า ? เราจะกินของที่มีประโยชน์แต่เราไม่ได้ชอบได้ทุกวันเลยหรือ บางคนไม่ชอบพรุนเลยด้วยซ้ำ ทานแล้วขี้แตกขี้แตน แต่เขาบอกว่ามันช่วยลดการอักเสบ เฮ้ยมันต้องดีแน่ๆ ขี้แตกก็ยอม แบบนั้นเหรอ ? มันก็ไม่ใช่ป่ะ 55

มันเป็นสิ่งเดียวรึเปล่าที่ให้ผลแบบนั้น

อย่างเขาบอกว่าพรุนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ พรุนช่วยลดการอักเสบ พรุนช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ.... คำถามคือ แล้วไอ้อย่างอื่นมันมีไอ้สิ่งเหล่านั้นด้วยรึเปล่า ? มันต้องตั้งหน้าตั้งตาทานแต่พรุนมั้ย ? มีแต่พรุนอย่างเดียวรึเปล่าที่ให้สิ่งเหล่านั้นได้ ? เชื่อไหมครับว่าคุณสมบัติ สรรพคุณบางอย่าง ของอาหารบางชนิด มันก็มีในวัตถุดิบชนิดอื่นๆด้วย ไม่ใช่ว่ามีแต่สิ่งนั้นสิ่งเดียวที่มันมี

ไอ้ที่เรากินจริงๆมันเป็นยังไง

ผมลองเดินไปหยิบกระป๋องพรุนยี่ห้อนึงในตู้เย็นที่บ้านมาดู (เยส ผมมีมันติดบ้านเว้ยเฮ้ย ผมไม่ได้แอนตี้พรุนนนน) ฉลากโภชนาการบอกว่าพรุน 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 10 กรัม มีคาร์บ 8.6 กรัม เป็นน้ำตาล 5 กรัม ทีนี้ย้อนกลับไปที่งานวิจัยข้างบนถ้าผมทานพรุนวันละ 100 กรัม คือทานไอ้นี่ 10 ชิ้น น้ำตาล 50 กรัม เอ๊า แล้วนี่กินทุกวัน เพื่อให้ได้ผลที่งานวิจัยบอก น้ำตาลไม่บานทะโล่เอาเร๊อะ นี่คิดเฉพาะพรุนนะ แล้วเห็นมั้ยครับทาน 50 กรัมกับ 100 กรัม ผลที่ได้ก็ไม่เหมือนกันอีก ถ้าทานน้อยคือไม่ทานเลยก็ไม่ได้ผล ถ้าทานวันละ 1 ชิ้น ผลจะเหลือแค่ไหน แล้วย้อนกลับไปข้อข้างบน คุณชอบพรุนขนาดว่าจะทานมันทุกวันจริงๆรึเปล่า ถ้ามันได้ผลที่ดีตามงานวิจัยแค่กระจึ๋งเดียว

ดังนั้นนะครับ เวลาเขาบอกว่ามันช่วยนั่นช่วยนี่ อย่าพึ่งไปคิดว่ามันคืออาหารวิเศษ ก็ต้องดูต้องพิจารณามันในแง่ต่างๆอีกด้วย ย้ำอีกทีนะครับนี่ไม่ได้แอนตี้พรุน แต่อยากให้เป็นแนวคิดเอาไว้ใช้กับในอาหารชนิดอื่นๆเวลาเสพสื่อเสพข้อมูลด้วย

Mr. Pongpun Bouphet

🎫 Certificate
🏆 Nutrition Master (PESA)
🏆 Nutrition and Coaching (PN Level1)
🥈Exercise Instruction Program (PESA)

🎫 Specialized Certificate

🏆 Nutrition for Metabolic Health (PN)
🏆 Coaching Dietary Strategies (PN)

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK