Infobesity ภาวะข้อมูลเกิน คืออะไร ?

เทคโนโลยีพัฒนาไปไว ข้อมูลข่าวสารต่างๆก็เยอะขึ้น ทางนึงมันก็ดีนะครับ แต่ในอีกทางนึง ทุกวันนี้ผมเจอกับคนที่มีภาวะเสพข้อมูลเกินขนาดเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะ Infobesity เป็นยังไง วันนี้จะมาชวนคุยกันครับ


Infobesity ภาวะข้อมูลเกิน คืออะไร ?

ระวังเราอาจจะเป็นภาวะ Infobesity โดยไม่รู้ตัว มาลองตั้งหลักดูกันนะครับ ว่าวันนี้คุณกำลังตกอยู่ในภาวะสับสนเพราะ Information overload อยู่รึเปล่า ? Infobesity ภาวะข้อมูลเกิน คืออะไร ? อ่ะวันนี้มาชวนคุยเรื่องอื่นนอกจากโภชนาการกันบ้าง (ว่าแต่มันนอกเหนือจริงรึเปล่าหว่า?)

Photo by Philipp Katzenberger / Unsplash

Infobesity คือ

ภาวะข้อมูลเกิน Information overload หรือ Infoxication หรือ information anxiety หรือ information explosion พวกนี้คือหัวข้อเดียวกันทั้งสิ้นนะครับ ส่วนคำที่ผมชอบนั้นคือ Infobesity มันเป็นภาวะที่เราเกิดความยาก ความสับสน ว่าจะตัดสินใจยังไงดี เมื่อมันมีข้อมูลที่เราได้รับรู้มาในปริมาณที่มากกกกกกกก เกินไป

โอ้โห อะไรกัน การรู้ข้อมูลเยอะๆไม่ใช่เรื่องดีหรอกเหรอ ?? จริงอยู่ครับ ว่าการรู้เยอะ มีข้อมูลเยอะๆน่ะเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการที่ว่าครับ คือมันเสพมาเยอะเกินจนสับสน ไม่รู้ว่าทางไหนมันใช่กันแน่น ทางนี้บอกไปทาง ทางนั้นบอกไปทาง

ข้อมูลก็เหมือนสารอาหารนะครับ น้อยเกินไปก็ไม่ดี มากเกินไปเกินก็มีผลเสียได้เช่นเดียวกัน ไม่น่าเชื่อแต่มันจริงนะครับ ในปัจจุบันมันเป็นโลกของ Content ครับ ผมเองก็เป็นคนนึงที่มีหมวกใบนึงเป็น Content Editor

สูตรสำเร็จสูตรนึงที่ตอนนี้เขาสอนกันในหมู่ Content Editor คือคุณต้องสม่ำเสมอในการสร้างข้อมูลออกมา เพื่อให้ผู้ติดตามของเรายังถูกรักษาไว้ และก็เพิ่มผู้ติดตามใหม่ๆ พบว่าเมื่อมีการผลิตเนื้องานออกมาสม่ำเสมอ ผู้ติดตามก็จะเยอะขึ้นจากกลไกต่างๆ เพจสุขภาพ เพจออกกำลังกาย เพจโภชนาการ ก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นในทุกวันนี้ สายนี้ก็เหมือนสายอื่นแหละครับ ต้องขยันผลิตคอนเทนท์ปั้นๆๆๆ ออกมาเยอะๆ

ในทางนึงก็ดีมากเลยที่เดี๋ยวนี้เรามีเนื้อหาต่างๆ ข้อมูลต่างๆ ให้อ่านกันเยอะ สมัยผมศึกษาพวกนี้เมื่อ 20 ปีก่อนนี่หาข้อมูลยากมากกกกก ข้อมูลมันอยู่ในหนังสือในห้องสมุด แต่เดี๋ยวนี้เช้ามา ทันทีที่เราลืมตา ข้อมูลทุกอย่างพร้อมที่จะเอ่อท่วมเขื่อนเปลือกตาของเราเข้ามายังกับอุทกภัย เลือกเสพเลือกอ่านกันไม่ทันเลย

อย่างที่บอกทางนึงมันก็ดี แต่อีกทางนึง ก็อาจจะมีผลที่ไม่ค่อยดีตามมาได้

ผลของภาวะ Infobesity ต่อตัวเราเอง

อันนี้ไม่ได้อ้างอิงงานวิจัยอะไรนะ แต่ผมพบว่าจากหลายๆท่านที่เข้ามาปรึกษา มาสอบถามกันทั้งทางเพจและช่องทางอื่นๆ ทั้งที่รู้จักกันดีในชีวิตประจำวัน ทั้งที่รู้จักกันแล้วในชีวิตจริง ที่รู้จักกันทางออนไลน์ รวมไปถึงสมาชิกที่ยังไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวอีกเป็นจำนวนมาก

หลายคนมีภาวะ Infobesity จากการได้รับข้อมูลมากมากเกินไป ทางนั้นบอกให้กลัวไอ้นี่ ทางนี้บอกให้ตัดไอ้นั่น ทางนี้บอกให้กินอันนี้เยอะๆ มันดีต่อสุขภาพ ไอ้นี่ไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วไปๆมาๆ หลายคนกำลังก้าวขาเข้าสู่ประตูของห้องที่มีป้ายติดข้างหน้าว่า Eating disorder และ Welcome กลายเป็นคนที่กังวลกับอาหาร จนแทบไม่กล้ากินอะไร หลายคนคิดว่าเราต้องกินแต่ข้าวไรซ์และอกไก่ลอกหนัง ปลาแซลมอน และอะโวคาโด

ทั้งๆที่จริงๆแล้วถ้าเรามีความรู้ทางด้านโภชนาการที่ถูกต้องแล้วเนี่ย เรากินอะไรได้หลากหลายมาก และควรทานให้หลากหลายด้วย พวกสิ่งที่เขาบอกว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อนั่นต่อนี่น่ะ มันยังต้องดูอีกหลายปัจจัย อีกหลายภาวะที่เกี่ยวข้องด้วยมั้ย บางอย่างมันมีผลในคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว คนที่ไม่มีปัญหาตรงนั้นกินได้ไม่เป็นอะไร บางอย่างมีผลต่อสุขภาพจริง แต่เกิดขึ้นเมื่อทานเกินปริมาณ N ต่อเนื่องกันเกินระยะเวลา T ไม่ใช่แตะลิ้นปุ๊บเกิดผลนั้นทันทีเลย

Photo by Gift Habeshaw / Unsplash

พูดจากในมุมของ Content Editor บ้าง

Content Editor หลายๆคน ก็ใช้สูตรสร้าง Engagement ด้วยการใช้เทคนิคแบบ Clickbait พาดหัวให้มันเว่อร์ ให้พวกคุณสนใจ แล้วคุณก็สนใจจริงๆเสียด้วย สุดท้ายที่เจอบ่อยๆนะครับ คือการเอาอะไรที่มันมีผลแทบจะไม่ถึง 1% ของปัจจัยทั้งหมดในชีวิตเรา มาขยายผล ให้มันโอ้โห มีผล 100% 1000% ไอ้พวกนี้มันใช้ไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ เขาทำแบบนั้น พวกคุณก็ชอบเข้าไปดูไปเสพกัน เขาก็ยิ่งทำเนื้อหาแบบนั้นออกมา

อันนี้บางคนอาจจะคิดว่า เพจหรือเว็บผมคนติดตามน้อย ไม่ค่อยมี Content เลยอิจฉาเพจอื่นรึเปล่า โน ไม่ได้สนใจอะไรตรงนั้น ผมแค่อยากบอกให้พวกคุณเห็นภาพนะว่า นั่นคือสิ่งที่ Content Editor ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโค้ช เทรนเนอร์ หรือหมอ เขาทำกันเพื่อให้เกิด Engagement รักษายอด Follower ของเขาไว้ .. บางเนื้อหาคุณอาจจะงงเลยด้วยซ้ำ ว่าเอ๊ะ นี่คือคนเป็นหมอเขาพิมพ์กันแบบนี้หรอ ไม่แปลครับ หมอน่ะคือหมวกอีกใบที่เขาสวม แต่หมวกอีกใบที่ดูเหมือนจะใหญ่กว่า คือการเป็น Influencer ที่พิมพ์มาถึงตรงนี้ไม่ได้บอกว่าไอ้ที่เขาทำผิดหรือถูกนะ ผมแค่อยากให้พวกคุณเห็นภาพว่า ในฐานะคนทำคอนเทนท์ ก็มีเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งขับเคลื่อน จะได้เข้าใจกันบ้างว่านั่นคือธรรมชาติของการนำเสนอเนื้อหา พวกคุณก็อย่าไปอินจนเกินไป

คือบางคนก็เสพแต่เรื่องพวกนี้มากจนเครียด เห็นแล้วก็เป็นห่วง คือถ้ามีภาวะนี้เกิดขึ้นนะ แม้แต่เพจของผมเว็บของผม คุณก็ควรพักควรห่างบ้าง แล้วหันไปทำอย่างอื่นพักสมอง ในชีวิตเราจริงๆมีกิจกรรมอะไรที่เราทำได้อีกมาก พักผ่อนหย่อนใจ มากกว่าใส่ใจสุขภาพแม่งตลอดวินาที หายใจเข้าอินซูลิน หายใจออกออโตพาจี้

Young man covered in sticky notes, work overload
Photo by Luis Villasmil / Unsplash

จัดการยังไงกับข้อมูลสุขภาพ

ถ้าคุณไม่จำเป็นว่าต้องศึกษาไปถึงรากเหง้าของเคมีชีวะ ระบบกลไกภายในร่างกายอะไรมากนะครับ ผมแนะนำว่าอ่านอะไรแล้ว ก็ตีความให้เข้าใจว่าในระดับปฎิบัติน่ะ มันคืออะไร อย่างที่ผมเคยพิมพ์เรื่อง Omega 3 Omega 6 งี้ เข้าใจในหลักปฎิบัติภาพรวมว่าเราทานอาหารที่มีกรดไขมันสองอย่างนี้ ในสัดส่วนที่เหมาะสม หรือว่าง่ายๆคือทานอาหารให้มันมีความหลากหลาย ไม่ใช่รับแต่อย่างใดอย่างนึง อย่างนี้ดี กินแต่ไอ้นี่ อย่างนี้แย่ ไอ้นี่กินไม่ได้ มันไม่ได้ขาวหรือดำอะไรขนาดนั้น ส่วนไอ้โมเลกุลนั่นนี่ โครโมโซม เอนไซน์ ฮอร์โมนอะไรยังไงเนี่ย มันจำเป็นสำหรับคนที่มีความสนใจอีกกลุ่มนึง บางคนยิ่งอ่านยิ่งกลัว เอาตัวกว้างๆ เข้าใจง่ายๆ ปฎิบัติยังไงในชีวิตจริงก็พอครับ

บางครั้งถ้ามองให้เห็นภาพกว้างๆ มันไม่ใช่อะไรซับซ้อนหรอกครับ อาหารหลัก 5 หมู่ที่เรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็กนั่นแหละ ก็เป็นหลักการกว้างๆที่ใช้งานได้เหมาะสมแล้ว ที่เราเรียนรู้เพิ่มเติมมาในรายละเอียด ก็เอามาปรับใช้ แต่ไม่ต้องไปจดจ่อซีเรียสกับมันมาก ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในจุดที่จำเป็นต้องซีเรียสกับมันไปทุกอย่าง

Cause they’ve been swimming in the wrong waters. Now they’re pulling me down.
Photo by nikko macaspac / Unsplash

วิธีง่ายๆในการจัดการกับมรสุมข้อมูลอันหลากหลาย

  1. ลดการเสพข้อมูล บางแหล่งเนื้อหาซ้ำๆกัน ก็เลือกจากซักอันก็ได้ เพราะว่าหลายๆอันซ้ำๆเอาจริงๆนะ คุณไม่ได้อะไรใหม่ มันแค่ย้ำ ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ จนในที่สุดเกิดภาวะข้อมูลท่วม แต่ไม่ได้อะไรใหม่เลย
  2. ฝึกกระบวนการคิด การตีความข้อมูลเหล่านั้น ลดเวลาเสพในข้อ 1 แล้ว ให้ย่อยเอาจุดหลักๆสำคัญๆ เอาให้เหลือเฉพาะในส่วนที่เป็นความเข้าใจ เพื่อนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน เข้าใจหลักแล้วจะเหลือประสิทธิภาพของสมอง และร่างกายไว้ทำอย่างอื่นได้อีกเยอะขึ้น

จริงๆตอนแรกว่าจะพิมพ์สั้นๆนะเรื่องนี้ ไปๆมาๆ พิมพ์ซะยาว กลายเป็น Information Overload เข้าไปอีกบทความนึงนี่ชิบหายเลย เสียวัตถุประสงค์หมด ๕๕๕๕๕ เอาเป็นว่าก็พิมพ์ด้วยความหวังดีนะ ผมหวังว่าจะมีประโยชน์กับพวกคุณๆบ้าง ไม่ได้อึดอัดอะไรนะถึงมาพิมพ์ แต่ในห้วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผมเจอหลายคนที่เจอภาวะแบบนี้จริงๆ อยากให้เข้าใจ และหลุดพ้นกับภาวะนี้กันนะ ด้วยความเป็นห่วง

Joyful sunset.
Photo by Austin Schmid / Unsplash

Mr. Pongpun Bouphet
🎫  Certificate
🏆 Nutrition Master (PESA)
🏆 Nutrition and Coaching (PN Level1)
🥈Exercise Instruction Program (PESA)

🎫 Specialized Certificate
🏆 Nutrition for Metabolic Health (PN)
🏆 Coaching Dietary Strategies (PN)


เคล็ดลับสำหรับวันพัก (Rest day)
Previous article

เคล็ดลับสำหรับวันพัก (Rest day)

"พวกเราบางคนอาจจะพบความยากลำบากในการฝึกทำสมาธิด้วยวิธีดั้งเดิม กลายเป็นการทำให้ตัวเองเจ็บ ปวด เมื่อย ซะอย่างนั้น แต่แทนที่จะบังคับคนเหล่านั้นฝึกตามแบบแผนให้ได้แถมเพิ่มความเครียดให้กับการทำสิ่งที่ควรจะได้ประโยชน์ เราอยากจะแนะนำวิธีฝึกทางเลือกที่ให้ประโยชน์แบบเดียวกันมากกว่า"

ว่าด้วยเรื่องของกล้ามเนื้อก้น (Gluteus maximus)
Next article

ว่าด้วยเรื่องของกล้ามเนื้อก้น (Gluteus maximus)

"การทำงานของกล้ามเนื้อ Gluteus maximus จะถูกกดไว้เมื่อมีการสร้างแรงเพื่อเหยียดเข่าในเวลาเดียวกับที่มีการสร้างแรงเพื่อเหยียดสะโพก เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดเข่านั้นสามารถช่วยแบ่งเบาภาระในการสร้างแรงในการเหยียดสะโพกได้ด้วย"


GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK